posttoday

PPC 3 ข้อสำคัญเสริมแกร่ง SME

21 ธันวาคม 2560

เป็นที่จับตามองกันแล้วว่าทิศทางวงการอี-คอมเมิร์ซในปี 2018 จะเป็นอย่างไร จะเติบโตไปอีกมากกว่าเดิมแค่ไหน

โดย...ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา 

เป็นที่จับตามองกันแล้วว่าทิศทางวงการอี-คอมเมิร์ซในปี 2018 จะเป็นอย่างไร จะเติบโตไปอีกมากกว่าเดิมแค่ไหน โดยล่าสุดข้อมูลจาก ETDA ออกมาประกาศว่ามูลค่าการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อเนื่อง โดยกลุ่มตลาดที่ซื้อขายแบบ B2B ยังคงมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นร้อยละ 59.56 รองลงมา คือ B2C คิดเป็นร้อยละ 29.89 และ B2G คิดเป็นร้อยละ 11.55 และคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้ มูลค่าอี-คอมเมิร์ซรวมทั้งหมดจะเติบโตเป็นกว่า 2.8 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันในประเทศไทยการแข่งขันของร้านค้าต่างๆ ในโลกออนไลน์สูงมาก มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME ที่เข้ามาเพิ่มช่องทางในการขายออนไลน์ แล้วก็ยังมีแบรนด์ต่างๆ ที่หันมาจับช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม รวมถึงบริษัทต่างชาติรายใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย อย่างล่าสุด JD.com บริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ ก็ประกาศลุยธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว

แน่นอนว่าการที่ผู้เล่นมากขึ้น ส่งผลต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ดุเดือด ธุรกิจรายใหญ่จำพวก Marketplace จึงต้องงัดกลยุทธ์มาสู้ศึกกัน และอาจทำให้ธุรกิจรายย่อยแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องด้วยข้อจำกัดของเงินทุนที่สู้ธุรกิจรายใหญ่ไม่ได้

ในงาน Priceza Awards 2017 ที่ผ่านไป กูรูของวงการอี-คอมเมิร์ซหลายท่านที่ได้เข้าร่วมงานเพื่อแสดงความคิดเห็นต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2018 การลงสนามของธุรกิจรายเล็กๆ ไปจนถึงรายกลางจะต้องสู้ศึกกันเหนื่อย

คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO ของ Nasket ได้แชร์ความเห็นว่าสิ่งที่ธุรกิจ SME ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางอย่างพวกแบรนด์ต่างๆ จะเหนื่อย ก็คือจะมองหาช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคยากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งมีจำนวนมาก ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือพยายามวางกลยุทธ์ในลักษณะที่ว่า "เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็กของตัวเอง"

เทคนิคหนึ่งที่ได้มาจากงานคือเทคนิค PPC ได้แก่

P-Platform

แพลตฟอร์มเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ผู้ประกอบการต้องพยายามสร้างแพลตฟอร์มให้ได้ เช่น การสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ของตัวเอง เพื่อจะได้สร้างฐานลูกค้าของตัวเองให้เกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้เรามีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง ข้อสำคัญคือผู้ประกอบการไม่ควรคิดแค่ว่าจะขายของ แต่จะต้องมองหาแพลตฟอร์มที่จะเป็นพื้นที่ธุรกิจของเราได้จริง เมื่อเราหาแพลตฟอร์มนั้นพบแล้ว ก็จะเห็นว่าฐานลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน แล้วก็จะเป็นการสร้างพื้นที่ที่เราจะเข้าถึงฐานลูกค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

P-Partner

ธุรกิจหนึ่งธุรกิจโดยเฉพาะรายเล็กไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ตั้งแต่ให้บริการเว็บไซต์ ขายสินค้า ให้บริการช่องทางชำระเงิน ไปจนถึงโลจิส ติกส์จัดส่งสินค้า ฉะนั้นผู้ประกอบการควรหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อช่วยดำเนินงานในส่วนที่ไม่ชำนาญ และไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

C-Customer

ผู้ประกอบการจะต้องรู้จักลูกค้าของธุรกิจ เราต้องรู้ว่าลูกค้าของเราคือกลุ่มไหน ข้อเสียเปรียบของธุรกิจรายเล็กนั้นก็คือการมีเงินทุนที่จำกัด ทำให้เราไม่สามารถทดลองดูก่อน หรือขายของแบบหว่านๆ ไป เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น เราอาจจะเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ก็ได้

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเราเจอพื้นที่ของตัวเองอย่างชัดเจน แล้วโฟกัสไปกับแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง และกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องสำหรับธุรกิจ พร้อมกับมอบบริการที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า โดยมีพาร์ตเนอร์ที่ดีร่วมกันดำเนินงาน ทั้ง 3 สิ่งนี้จะนำพาธุรกิจของเราไปสู่ความสำเร็จได้ครับ