posttoday

SMEs มีเฮ!ก.อุตฯปล่อยเงินกู้กองทุนประชารัฐรอบ2

08 ธันวาคม 2560

ก.อุตสาหกรรมพร้อมปล่อยเงินกู้กองทุนประชารัฐรอบ2ถึงสิ้นธ.ค.นี้ ปี61เร่งจัดทำแผนช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในต่างจังหวัด

ก.อุตสาหกรรมพร้อมปล่อยเงินกู้กองทุนประชารัฐรอบ2ถึงสิ้นธ.ค.นี้ ปี61เร่งจัดทำแผนช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในต่างจังหวัด

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่เปิดโครงการเดือนพ.ค.ถึงต.ค.60 มีการอนุมัติเงินกู้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME DevelopmentBank ไปแล้วกว่า 1,118 ราย วงเงินกว่า 4,423 ล้านบาท จากจำนวน SMEs ที่ยื่นคำขอสินเชื่อมากกว่า 4,000 ราย วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้กองทุนฯ ยังมีวงเงินเหลือให้กับ SMEs ที่ประสงค์จะยื่นคำขอสินเชื่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมติให้ขยายการเปิดรับการยื่นขอสินเชื่อออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560

สำหรับในปี 2561 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในแต่ละจังหวัด รวมถึงการออกคูปอง สำหรับใช้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ บริการปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้บริการศูนย์วิเคราะห์วิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้ 2 กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายให้ SMEs ใช้บริการจำนวน 5,000 ราย ในวงเงินทั้งสิ้น320 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้าน)

นอกจากนี้ กสอ. ยังเตรียมแผนการใช้โมเดลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) จากส่วนกลางเป็นต้นแบบในการยกระดับงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง นำไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน SMEs ให้เข้มแข็งในระดับภูมิภาค และยังมีการเตรียมสร้างกลไกเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริม SMEs เข้าสู่ DigitalValue Chaiโดยพัฒนาแพลตฟอร์มรูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech ขึ้นมา เพื่อนำ SMEs ในแต่ละโครงการของรัฐจำนวน 5,000 รายเข้าไปทำการเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI ได้มอบหมายให้องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรม ภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ SMRJ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ไทยเพื่อช่วยจัดทำแพลตฟอร์มการเชื่อมโยง SMEs ของไทยกับไทย และในอนาคตจะเชื่อมไทยไปยังผู้ประกอบการของญี่ปุ่น รวมถึงเชื่อมไทยไปยัง กลุ่ม AEC อีกด้วย