posttoday

ญี่ปุ่นรุกลงทุนเมียนมา

02 ธันวาคม 2560

การประชุมร่วมคณะกรรมการความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและเมียนมา

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

การประชุมร่วมคณะกรรมการความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและเมียนมา ครั้งที่ 13 ณ กรุงย่างกุ้ง เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เมียนมาและญี่ปุ่นได้หารือถึงประเด็นกฎหมายการลงทุนใหม่ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งการประเมินผลโครงการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นในเมียนมา เพื่อนำข้ออุปสรรคมาปรับปรุง

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาใช้มาตรการด้านภาษีที่จูงใจแก่นักลงทุน ซึ่งควรปรับปรุงระบบการทำงานที่สะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการการลงทุน เมียนมา และกระทรวงต่างๆ ของภาครัฐเพื่อเอื้อต่อการลงทุนใหม่ๆ

ยิชิ โคบายาชิ ประธานคณะกรรมการความร่วมมือทางธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น (Jp-Mekong Biz Cooperation Committee) กล่าวว่า แรงจูงใจด้านภาษีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้ลงทุนในประเทศเมียนมา ทั้งนี้หากสิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา มีสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจแก่นักลงทุนและปัจจัยอื่นที่เอื้ออำนวย จะทำให้กระตุ้นการลงทุนได้

"รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้นที่จะลงทุนในเมียนมา และต้องการพัฒนาเอสเอ็มอีใน เมียนมา อีกทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันของเมียนมาสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่น ทำให้การลงทุนจากญี่ปุ่นในเมียนมาหลังจากนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง" ยิชิ กล่าว

ดอว์ ซอ ตะซิน นิน รองผู้อำนวยการทั่วไป คณะกรรมการการลงทุน และกำกับดูแลบริษัท (DICA) ระบุว่า สิทธิประโยชน์การลงทุนของเมียนมา คงไม่สามารถเทียบกับไทยได้ แต่ถึงอย่างไรกฎหมายการลงทุนใหม่ของ เมียนมาที่ออกมา เชื่อว่าจะดึงดูดการลงทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับกฎหมาย เดิมแน่นอน เพราะเมียนมายังต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) อยู่ โดยเฉพาะการสนับสนุนการลงทุนในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมียนมามีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกรรมกว่า 70% ขณะที่เอฟดีไอในภาคเกษตรกรรมคิดเป็นเพียง 1% ของ เอฟดีไอที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา ทั้งหมด

ด้าน โซ่ ทุน รองประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา กล่าวว่า หากญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรกรรม จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของเมียนมา โดยปัจจุบันธุรกิจญี่ปุ่นและผู้ประกอบการสนใจลงทุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจอื่นๆ มากกว่า แต่ในทางตรงกันข้าม โรงงานรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นที่ตั้งในเมียนมาหลายปีแล้วนั้น ดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีส่วนแบ่งในตลาดเมียนมาสูง เช่น ซูซูกิ จะเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ปี 2561

"เนื่องจากภาคเกษตรกรรมให้ผลกำไรน้อย แต่มีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งนักลงทุนไม่ต้องการเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ถึงอย่างไรเมียนมายังต้องการการเติมเต็มด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนเกษตรกรรมมากขึ้นเช่นกัน" โซ่ ทุน กล่าว

ขณะที่ จ่อ วิน รัฐมนตรีสหภาพกระทรวงวางแผนและการคลัง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2558-2559 นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเมียนมามูลค่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นช่วงที่สูงที่สุดของการลงทุนจากญี่ปุ่นใน เมียนมา ขณะที่สิ้นเดือน ก.ย. 2560 มีการลงทุนโดยตรงจากบริษัทญี่ปุ่นที่คณะกรรมการการลงทุนเมียนมาอนุมัติ 96 บริษัท รวมมูลค่าการลงทุน 717 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายการลงทุน เมียนมาได้อนุมัติการลงทุนจาก 49 ประเทศ จำนวน 1,378 โครงการ มูลค่า 7.45 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยญี่ปุ่นอยู่ลำดับที่ 11 ของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา ซึ่งกลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาอันดับต้นๆ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทย

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในเมียนมา ซึ่งการลงทุนของญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญต่อเมียนมาเช่นกัน