posttoday

ต่อยอดสวนลำไย สู่ผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง

04 พฤศจิกายน 2560

หนึ่งในคนรุ่นใหม่ นักกฎหมายที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวทำสวนลำไย ใน จ.ลำพูน และได้มีการพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตรทำให้มีมูลค่าเพิ่ม มีเอกลักษณ์และสร้างเรื่องราวของแบรนด์

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

หนึ่งในคนรุ่นใหม่ นักกฎหมายที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวทำสวนลำไย ใน จ.ลำพูน และได้มีการพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตรทำให้มีมูลค่าเพิ่ม มีเอกลักษณ์และสร้างเรื่องราวของแบรนด์ จึงผลักดันให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักอย่างมากกับตลาดในประเทศไทยรวมถึงตลาดส่งออก

“เอกสิทธิ์ จันทกลาง” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ชาสมุนไพรอบน้ำผึ้ง “ตราแสงผึ้ง” เปิดเผยว่า ครอบครัวได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกลำไย ที่ จ.ลำพูน โดยได้ส่งออกลำไยอบแห้งส่งออกไปต่างประเทศเป็นเวลานานหลายปี ต่อมาธุรกิจลำไยได้ประสบกับปัญหาราคาสินค้าตกต่ำอย่างมาก ทำให้ตนเองที่ได้เรียนมาทางด้านกฎหมาย ตัดสินใจที่จะเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้านและต้องการขยายแปรรูป พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ ได้สร้างชาสมุนไพรอบน้ำผึ้ง โดยนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคือสมุนไพรซึ่งอยู่ในพื้นที่จำนวนมากนำมาสร้างเป็นสินค้าโดยผสมกับน้ำผึ้งจากดอกลำไย และถือเป็นรายแรกๆ ในประเทศ แบรนด์มีเรื่องราวของสินค้าที่มาจาก จ.ลำพูน เป็นแหล่งปลูกลำไยมากสุดและเป็นแหล่งที่มีน้ำผึ้งจากดอกลำไยเป็นแหล่งหลักในประเทศ

ขณะเดียวกันหลังจากได้เปิดตัวชาอบน้ำผึ้งจากดอกลำไยเข้ามาสู่ตลาดแล้ว จึงสนใจที่จะต่อยอดและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายสินค้าสู่กลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องดื่ม และสินค้าสมุนไพรที่ไม่ใช่ยา ทั้งสบู่และเครื่องสำอาง โดยในปัจจุบันสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแต่ละแบบของสินค้าจะมีเอกลักษณ์ที่พิเศษและไม่เหมือนใคร

สำหรับสวนลำไยของฟาร์มจะมีพื้นที่ 200 ไร่ และได้มีพัฒนาการเลี้ยงผึ้งให้เป็นฟาร์มที่มีมาตรฐานควบคู่กัน ทำให้ได้รับการรับรอง GAP จากหน่วยงานภาครัฐ จึงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดและเป็นน้ำผึ้งที่มีมาตรฐาน ส่วนช่องทางจำหน่ายหลักจะอยู่ในพื้นที่จังหวัด รวมถึงอยู่ในคิง เพาเวอร์ ภายในสนามบิน และมีการส่งออกไปในจีนและไต้หวัน ซึ่งถือว่าตลาดในต่างประเทศให้การตอบรับที่ดี

“เอกสิทธิ์” กล่าวว่า การเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำการเกษตรได้มีการศึกษาข้อมูลและพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงการมุ่งสร้างแบรนด์สินค้าสู่ลูกค้าและทำให้สินค้ามีความแตกต่าง มีเรื่องราวและความโดดเด่น เพราะการมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างนั้นถือเป็นจุดแข็งสำคัญของแบรนด์และไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

อีกทั้งสิ่งที่ตนเองได้ยึดมาตลอดในการบริหารจัดการฟาร์ม จะอยู่ที่การใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้มุ่งขยายฟาร์มให้มีขนาดใหญ่โต แต่จะบริหารจัดการให้ทุกอย่างมีความเหมาะสมทุกด้าน และเป็นผลดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะช่วยทำให้การเกษตรมีความยั่งยืน

“โอกาสสินค้าเกษตรในประเทศไทยมีอีกมากและปัจจุบันจำนวนผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ บางส่วนมีปัญหาสินค้าจากแห่งอื่นเข้ามาปลอมปนสินค้าเกษตรไทย แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมุ่งสร้างแบรนด์ การสร้างสินค้าที่มีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการนำเสนอจุดเด่นของสินค้า เพื่อทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์มากที่สุด” เอกสิทธิ์ กล่าว