posttoday

ตุ๊กตาบ้านถักทอ สร้างสรรค์จากของไร้ค่า

13 ตุลาคม 2560

เส้นใยฝ้ายหรือเศษผ้าหากเหลือใช้แล้วมักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะไร้ค่า แต่หากถูกรังสรรค์นำไปใช้ประโยชน์ได้

โดย อักษรา ปิ่นนราสกุล

เส้นใยฝ้ายหรือเศษผ้าหากเหลือใช้แล้วมักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะไร้ค่า แต่หากถูกรังสรรค์นำไปใช้ประโยชน์ได้ นั่นย่อมไม่ใช่ขยะอีกต่อไป

“บ้านถักทอ” โดย สายอรุณ เวียงคำ หรือ “อ๋อย” สาวนักพัฒนาที่มีความเป็นศิลปินเจือปนแห่งบ้านพระนั่งดิน ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เล่าว่า เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2548 ในนามกลุ่มอาชีพ “บ้านถักทอ” จากนั้นในปี 2553 เริ่มมีคนรู้จักทำกันแพร่หลายขึ้น พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นสินค้าโอท็อประดับ 3-4 ดาว โดยปัจจุบันได้ก่อตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านถักทอ”

“เริ่มแรกเห็นเศษเส้นใยฝ้ายของโรงงานเอกชนแห่งหนึ่งที่เหลือใช้ ถูกกองทิ้งไม่มีคุณค่า จึงคิดว่าควรนำมาทำอะไรได้บ้าง ก็นึกถึงแม่บ้านในหมู่บ้านที่ชอบงานถักของชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น ตุ๊กตารูปร่างต่างๆ เลยได้นำเศษเส้นใยฝ้ายมาให้แม่บ้านทำ เริ่มทำตุ๊กตาถักด้วยโครเชต์ เป็นตุ๊กตาหัวโต ถักส่วนหัวลำตัว แขน ขา แล้วนำใยสังเคราะห์ยัดใส่ในตัวตุ๊กตาจนแน่น แล้วถักติดกันเป็นตัว พอเห็นชิ้นงานออกมาแล้วทุกคนดีใจ เพราะน่ารักมาก เศษเส้นใยฝ้ายมีมากก็ถักได้มาก เมื่อมีผลิตภัณฑ์มากก็ต้องมีการตลาดมารองรับในเวลาต่อมา”

หากเป็นตุ๊กตาทั่วๆ ไปจะไม่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง “บ้านถักทอ” จึงทำ “ตุ๊กตาหัวโต” ขึ้น

ตุ๊กตาบ้านถักทอ สร้างสรรค์จากของไร้ค่า

ส่วนใหญ่ลูกค้าที่นิยมตุ๊กตาหัวโตจะเป็นกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ เพราะมีวัฒนธรรมและการจัดงานเทศกาลรื่นเริง ที่ทุกคนจะต้องมีของขวัญ และใช้ในเทศกาลต่างๆ

ปัจจุบันได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ของบ้านถักทอมากขึ้น จากตุ๊กตา ก็เพิ่มประเภทงานถักมาเป็นกระเป๋า พวงกุญแจ ตุ๊กตาช้าง โดยเฉพาะปัจจุบัน 1-2 ปีมานี้มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวผู้หญิงจากประเทศจีนนิยมกระเป๋าผ้าถัก ทางกลุ่มจึงออกแบบเป็นขนาดต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกตามความพึงพอใจ หรือพวงกุญแจถักรูปช้างที่นิยมกันมาก

“เป็นงานถักง่ายๆ ที่คนทำไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะใช้แรงถักอย่างเดียว ทำในเวลาว่าง จะตอนไหนก็ได้ ยิ่งช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา หรือการเกษตร สามารถนำมาถักได้ตลอด และไม่ยุ่งยากเพราะเป็นลายพื้นฐานทั่วๆ ไป มีตุ๊กตาหลายตัวที่ทางต่างประเทศกำลังต้องการอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นตุ๊กตาหัวโตตัวใหญ่ที่ออร์เดอร์เข้ามา”

ด้านการตลาด “อ๋อย” แจงถึงเรื่องราคาว่า “ราคาจำหน่าย ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ ไม่ยุ่งยาก จะมีราคาตั้งแต่ 80 บาทขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของผลิตภัณฑ์ หากลูกค้าต้องการสั่งครั้งละ 100 ชิ้น ก็ต้องออกแบบชิ้นงานให้ลูกค้าพิจารณาแล้วจึงจะจ่ายงานให้กับลูกกลุ่ม

ระบบการซื้อขายหรือการตลาด นอกจากจะมีหน้าร้านที่บ้านพระนั่งดิน อ.เชียงคำ จ.พะเยา แล้ว ยังมีที่เชียงใหม่และประจวบคีรีขันธ์ ออกงานกับหน่วยงานของภาครัฐเป็นระยะๆ และการเปิดหน้าร้านทางเฟซบุ๊กชื่อ “Bantaktor Chiangkum อีเมล [email protected], [email protected]

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ “บ้านถักทอ” เลขที่ 30 หมู่ 7 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา โทรศัพท์ติดต่อ 09-9623-2899