posttoday

พลังงานแสงอาทิตย์ กับอาเซียน

30 พฤษภาคม 2560

การใช้พลังงานทดแทนเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025

โดย...คงศักดิ์ บุญอาชาทอง นักวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การใช้พลังงานทดแทนเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC  Blueprint 2025) และสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable DevelopmentGoals : SDGs) เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

(Affordable and Clean Energy) จากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 ณ ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 21-22 ก.ย. 2559 สรุปว่าอาเซียนมุ่งเน้นขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายคือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในอาเซียนสูงถึงร้อยละ 23 ภายใน พ.ศ. 2568

พลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกลง และถูกกระตุ้นด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าแบบอัตราคงที่ Feed-in Tariff (Fits) โดยเฉพาะประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจาก 200 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อ พ.ศ. 2554 เป็น 2,149 เมกะวัตต์ (MW) ใน พ.ศ. 2559 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 ของพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในอาเซียน โดยไทยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 6,000 เมกะวัตต์ (MW) ใน พ.ศ. 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 15 ปี

สำหรับประเทศอื่นในอาเซียน อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มีแนวโน้มเพิ่มเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ที่สูงขึ้น และส่วนใหญ่ใช้มาตรการรับซื้อไฟฟ้าแบบอัตราคงที่ Feed-in Tariff (Fits) เป็นกลไกหลักในการเร่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ยกเว้นสิงคโปร์ที่ใช้กลไกตลาดในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และเน้นส่งเสริมนวัตกรรมโดยให้เงินช่วยเหลือในโครงการที่มีการวิจัยและพัฒนา

จากงานวิจัยของ ITD “การศึกษาเปรียบเทียบนโยบายและประสิทธิภาพการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกลุ่ม SMEs” มีข้อเสนอแนะด้านนโยบายในการส่งเสริมนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สรุปได้ดังต่อไปนี้ 1) มีมาตรการส่งเสริมทางการเงิน เช่น Feed-in-Tariffs ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานทดแทน จึงจะสามารถทำให้เกิดการลงทุนพัฒนานวัตกรรม 2) จัดสรรงบประมาณด้านงานวิจัยพลังงานให้ไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างเหมาะสม และ 3) สถาบันการศึกษาต้องผลิตทรัพยากรมนุษย์ กำลังแรงงานทางเทคนิคเข้ามารองรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเพิ่มมากขึ้น

นโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้การเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียนมีความมั่นคงและต่อเนื่องในระยะยาว