posttoday

หมอนยางสร้างรายได้ 20 ล้าน โอกาสที่เกิดจากวิกฤต

12 พฤษภาคม 2560

ในวิกฤต ใช่แต่เพียงต้องฟันฝ่าหาทางแก้ปัญหา แต่วิกฤตก็ย่อมแฝงโอกาส รอเพียงผู้ค้นพบเท่านั้น

โดย...เมธี เมืองแก้ว

ในวิกฤต ใช่แต่เพียงต้องฟันฝ่าหาทางแก้ปัญหา แต่วิกฤตก็ย่อมแฝงโอกาส รอเพียงผู้ค้นพบเท่านั้น

วิกฤตราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา รัฐบาลส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรยางพารา โดยเฉพาะสหกรณ์สวนยางต่างๆ แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตยางพารา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของธุรกิจหมอนยางพาราแบรนด์ NONG KROK โดยสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2559 เพียงแค่ปีเดียว ยอดขายก็เรียกได้ว่าไปโลด รายได้ทะลุกว่า 20 ล้าน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดประเทศจีนและ สปป.ลาว ซึ่งทำให้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครกเล็งต่อยอดผลิตที่นอนและหมอนข้างยางพาราเป็นทางเลือกเพิ่ม

สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก เปิดรับซื้อน้ำยางสดวันละไม่ต่ำกว่า 9,000 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นหมอน และที่นอนยางพารา โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 12,250,000 บาท และยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่มีรายได้จากการเย็บปลอกหมอนขายให้กับสหกรณ์แห่งนี้

มนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก บอกว่า หมอนยางพารา 1 ใบ จะใช้น้ำยางสดในกระบวนการผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม ขายราคาใบละ 450-500 บาท โดยแต่ละวันสามารถผลิตได้ประมาณ 400 ใบ และกำลังต่อยอดผลิตเป็นที่นอนขนาดเล็กความหนา 2 นิ้วครึ่ง ที่นอนเด็กอ่อน และหมอนข้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปี ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก เริ่มต้นผลิตหมอนยางพารา ทำให้สามารถพยุงราคาน้ำยางสดไม่ให้ลดลง โดยราคารับซื้อน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 60-65 บาท

หมอนยางสร้างรายได้ 20 ล้าน โอกาสที่เกิดจากวิกฤต

“ผลจากการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการขายหมอนยางพาราแล้วกว่า 20 ล้านบาท ทางสหกรณ์จึงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราให้เป็นหมอนชาร์โคล มีทั้งแบบผิวเรียบ และแบบหนามทุเรียน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเพื่อสุขภาพของลูกค้า จนได้รับการตอบรับและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ สามารถส่งไปขายยังประเทศจีนและ สปป.ลาว ได้มากขึ้น” มนัส เล่าถึงความสำเร็จในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ เพื่อพัฒนาต่อยอดการผลิตและขยายตลาดให้กว้างขึ้น สำหรับแผนงานในปี 2560 นี้ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครกวางแผนเจาะตลาดแถบยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา เพิ่มขึ้นด้วย พร้อมพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เนื่องจากแนวโน้มยังไปได้ดี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ อ.รัษฎา และใกล้เคียง ไม่ต้องหวั่นวิตกกับราคาที่อาจจะตกต่ำในอนาคต

มนัส บอกว่า ปัญหาที่พบคือ ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางพาราได้ หรือในช่วงฤดูกาลปิดกรีด ทำให้ทางสหกรณ์มีน้ำยางสดไม่เพียงพอในการผลิตหมอนยางพารา จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสั่งซื้อมาจากจังหวัดต่างๆ ที่ยังมีน้ำยางสด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการผลิตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น่าจับตาการพัฒนาต่อยอดการผลิตและขยายตลาดในปีนี้ว่า ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จะพบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร บทเรียนของพวกเขา ถือเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุน เพราะถือเป็นทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรไทย เพื่อต่อสู้กับปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ