posttoday

บีโอไอเปิดกลยุทธ์รุกเอสเอ็มอี

16 กุมภาพันธ์ 2560

กิจการกว่า 90% ในไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการเอสเอ็มอี เหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนเป็นฐานรากของภาคธุรกิจไทย

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

กิจการกว่า 90% ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนเป็นฐานรากของภาคธุรกิจไทย ซึ่งภาครัฐเองก็เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้มีนโยบายส่งเสริมกิจการของเอสเอ็มอีมาตลอด
 
เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีด้วย ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการบีโอไอ บอกว่า บีโอไอได้กำหนดให้ มีนโยบายเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีมาตั้งแต่ปี 2546 และยังไม่หยุดนิ่งในการปรับปรุงเงื่อนไข กฎเกณฑ์ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มเอสเอ็มอีและทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านของสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนรวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเชื่อมโยงติดต่อธุรกิจการค้า การลงทุนกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปัจจุบันการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเอสเอ็มอีครอบคลุม 38 ประเภทกิจการ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม จากเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ปกติของบีโอไออีก 2 ปีแล้ว หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ เช่น มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม  การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกตามสัดส่วนของการลงทุน โดยต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนปฏิบัติงานส่งเสริม เอสเอ็มอี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างเครือข่ายธุรกิจได้เพิ่มขึ้นในปี 2560 บีโอไอจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศ กิจกรรมสัมมนาฝึกอบรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ กิจกรรมการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการจัดตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน และกิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย เป็นต้น

ดวงใจ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บีโอไอได้นำคณะนักธุรกิจและนักลงทุนในกลุ่มเอสเอ็มอีไปศึกษาศักยภาพการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เห็นถึงโอกาสและลู่ทางการลงทุน รวมทั้งจัดกิจกรรมให้ผู้ซื้อที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ขายที่เป็นกลุ่มเอส เอ็มอีที่มีศักยภาพได้เจอกันโดย ตรง และจัดสัมมนาเผยแพร่นโยบายส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ที่สนใจ

ขณะเดียวกัน ก็สร้างเครือข่ายในต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย ด้วยการนำคณะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีศักยภาพร่วมเดินทางไปศึกษาตลาดและร่วมงานแสดงสินค้าในงานนิทรรศการที่น่าสนใจในต่างประเทศตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ญี่ปุ่น ไต้หวัน ลาว เมียนมา เกาหลี และอินโดนีเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ สำนักงานบีโอไอขอนแก่นจะนำคณะเอสเอ็มอีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไปเชื่อมโยงการลงทุนเส้นทาง จ.ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลำพูน เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมกิจการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มเกษตรแปรรูป การผลิตเพชรเจียระไน กิจการผลิต ชิ้นส่วนเครื่องจักร รวมถึงการเยี่ยมชมธุรกิจด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเกษตรกรให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในการประกาศให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีคือ แนวคิด และการบริหารจัดการ ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันผลักดันและให้ความรู้ต่อไป" ดวงใจ กล่าว


บรรยายภาพ -  ดวงใจ อัศวจินตจิตร์