posttoday

ศิลปะ ‘อัฐิ’ แก้ว สร้างสรรค์ในความทรงจำ

09 มกราคม 2560

จากการที่ได้คลุกคลีและหลงใหลในเรื่องราวเกี่ยวกับแก้วมาตั้งแต่วัยเด็ก ที่ต่อยอดให้ วัฒน ทิพย์วีรนันท์ เจ้าของบริษัท แก้วสิงห์ และผู้จัดการโครงการตกแต่งงานแก้ว นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ร่วมกับวัสดุแก้ว พร้อมดีไซน์ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ “อัฐิแก้ว”

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

จากการที่ได้คลุกคลีและหลงใหลในเรื่องราวเกี่ยวกับแก้วมาตั้งแต่วัยเด็ก ที่ต่อยอดให้ วัฒน ทิพย์วีรนันท์ เจ้าของบริษัท แก้วสิงห์ และผู้จัดการโครงการตกแต่งงานแก้ว นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ร่วมกับวัสดุแก้ว พร้อมดีไซน์ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ “อัฐิแก้ว” ที่หวังให้เป็นสิ่งที่ระลึกถึงความทรงจำของบุคคลอันเป็นที่รัก ภายใต้รูปโฉมใหม่ที่แตกต่างไปจากอัฐิดั้งเดิมทั่วไป

วัฒน เล่าที่มาชิ้นงานดังกล่าวที่ได้ไอเดียครั้งแรกเมื่อครั้งที่เดินทางไปฮ่องกง และเห็นงานในลักษณะดังกล่าวที่ยังไม่มีใครทำในบ้านเรา และในจังหวะเดียวกันเมื่อราว 2 ปีก่อน ได้รับการติดต่อมาจากครอบครัวผู้มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจรายหนึ่งที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งลูกหลานต่างมีความต้องการเก็บเถ้าจากการเผาที่คงเหลือไว้แต่อัฐิ มาเก็บไว้เป็นที่ระลึกความทรงจำของแต่ละคนเอาไว้

ในครั้งนั้นที่ทำให้ วัฒน ได้พัฒนาชิ้นงานอัฐิแก้วขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการใช้เทคนิคการหล่อแก้วร่วมกับเถ้าอัฐิของผู้เสียชีวิตหลังพิธีฌาปนกิจแล้วเสร็จ มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานอัฐิแก้วที่มีดีไซน์ใหม่ เพื่อให้ชิ้นงานมีคุณค่าทวีคูณต่อจิตใจของลูกหลาน

ศิลปะ ‘อัฐิ’ แก้ว สร้างสรรค์ในความทรงจำ

 

“ขั้นตอนคร่าวๆ ของการผลิตอัฐิแก้ว คือ หลังผู้เสียชีวิตผ่านพิธีฌาปนกิจแล้ว ลูกหลานจะนำเถ้ามาราว 2-4 ช้อนโต๊ะเพื่อหลอมร่วมกับวัสดุแก้ว ที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างแก้ว ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องนัดหมายล่วงหน้าเพื่อให้โรงงานเตรียมความพร้อม ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงก็แล้วเสร็จพร้อมรับชิ้นงานกลับได้ทันที” วัฒน อธิบายขั้นตอนของการผลิตชิ้นงานอัฐิแก้ว 

สำหรับการนัดหมายกับทางโรงงานแก้ว เพื่อให้ลูกค้าระบุความต้องการได้ว่าอยากได้ชิ้นงานอัฐิแก้วสีใด ซึ่งโรงงานจะมีให้เลือก อาทิ สีแดง เหลือง และส้ม ซึ่งสีอย่างหลังนี้จะมีราคาสูงมากกว่าสีอื่นจากกรรมวิธีการให้สีที่ซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ก็จะมีสีฟ้าและเขียวที่ราคา
ไม่สูงมากนัก

ขณะเดียวกัน ยังมีรูปแบบ (ฟอร์ม) ลวดลายงานอัฐิแก้วต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกกว่า 10 รายการ เช่น รูปผลไม้ แอปเปิ้ล รูปทรงหัวใจ ทรงกลม ดอกบัว ฯลฯ ซึ่งจะมีอัตราค่าบริการแตกต่างกันตั้งแต่หลักพันบาทต่อชิ้นไปถึงหลักหมื่นบาทต่อชิ้น โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือสี และจำนวนที่ลูกค้าต้องการ

วัฒน เสริมว่าการทำตลาดชิ้นงานดังกล่าว จะเป็นลักษณะการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มลูกค้าแบบปากต่อปากเป็นหลักที่แนะนำต่อๆ กันมา ด้วยเป็นงานกึ่งศิลปะเฉพาะทางที่มีคุณค่าต่อจิตใจของผู้สั่งงาน หรือเป็นงานที่รับสั่งทำแบบ เมด ทู ออร์เดอร์ ที่แต่ละชิ้นงานจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

ศิลปะ ‘อัฐิ’ แก้ว สร้างสรรค์ในความทรงจำ

 

ทั้งนี้ นอกจากตลาดในประเทศแล้ว งานศิลปะอัฐิแก้วดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างชาติ อย่างประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการชิ้นงานเพื่อระลึกถึงความทรงจำบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไปในลักษณะนี้ด้วย โดยโรงงานทำตลาดผ่านตัวแทนชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง ซึ่งเดินทางมายังไทยเพื่อมาพูดคุยกับทางโรงงาน โดยได้นำแนวคิดการผลิตชิ้นงานไปบอกเล่าอีกทอดหนึ่งในญี่ปุ่นเพื่อทำตลาด โดยในส่วนของโรงงานผลิตอัฐิแก้วดังกล่าวอยู่ใน จ.นครปฐม ซึ่งได้ร่วมกับ ทสึมิ ชุนจิ พันธมิตรชาวญี่ปุ่น ที่ทำโรงงานหลอมแก้วอยู่ในไทยมานานกว่า 10 ปี     

อย่างไรก็ตาม จากการที่ชิ้นงานดังกล่าวถือเป็นงานพิเศษสั่งทำเฉพาะ ซึ่งโรงงานจะดำเนินการผลิตราว 2-3 ชิ้น/เดือน ซึ่งนอกเหนือจากงานอัฐิแก้วแล้ว วัฒน ก็ยังมีงานแก้วลักษณะอื่นๆเพื่อใช้ในงานเดคอเรชั่นตกแต่งอีกด้วย ซึ่งรวมไปถึงการผลิตฐานแก้วรูปแบบต่างๆ อย่างฐานแก้วรูปเป็ดแมนดาริน หรือชิ้นงานที่ร่วมกับแก้วคริสตัล
สวารอฟสกี้ด้วย เป็นต้น

วัฒน กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดงานเดคอเรชั่นในเมืองไทยเริ่มหันมานิยมการใช้วัสดุแก้ว เพื่อการตกแต่งภายในและภายนอกสถานที่มากขึ้น อย่างเช่นโครงการล่าสุดของเขา ผนังกำแพงแก้วพระธาตุ จ.ภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นชิ้นงานศิลปะภาพนูนต่ำแกะสลักแก้ว เป็นรูปเทวดาลอยตัว เป็นต้น โดยปัจจุบันผู้ผลิตงานแก้วลักษณะนี้ในไทยมีจำนวนไม่มากรายนัก

และมองว่าชิ้นงานแก้วรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นอีกหนึ่งคุณค่าทางศิลปะที่ควรจะต้องรักษาไว้

ศิลปะ ‘อัฐิ’ แก้ว สร้างสรรค์ในความทรงจำ