posttoday

ดัน ‘เชียงใหม่’ ขึ้นเมืองดีไซน์โลก

06 ธันวาคม 2559

การที่ “เชียงใหม่” เต็มไปด้วยสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม มีศิลปินกระจายในหลากหลายสาขา

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การที่ “เชียงใหม่” เต็มไปด้วยสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม มีศิลปินกระจายในหลากหลายสาขา และมีช่างฝีมือด้านงานหัตถกรรมมากมาย แต่ขาดเพียงคนกลางที่จะมาเชื่อมต่อให้ผู้ประกอบการได้เจอกับผู้ผลิต ช่าง และตลาด

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) จึงเข้ามาเชื่อมให้พร้อมตั้งเป้าจะผลักดันให้เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งเมืองดีไซน์โลกเหมือนกับโตเกียว เฮลซิงกิ ลอนดอน และฮ่องกง ในปี 2563 ให้ได้ ซึ่งการจัดงาน “เชียงใหม่ ดีไซน์ วีก” ก็เป็นส่วนสำคัญไปสู่ฝันนี้

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) บอกว่า การไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเริ่มจากการสมัครเข้าเป็นเมืองดีไซน์โลกในปี 2563 โดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลัก หากได้รับการคัดเลือกจะทำให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นตลอดปี และกระจายกิจกรรมออกไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งเชียงใหม่จะอยู่ในส่วนนี้ด้วย ทำให้งานเชียงใหม่ ดีไซน์ วีก เป็นที่รู้จัก และถูกปักหมุดลงในปฏิทินท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจและอยู่ในแวดวงงานศิลปะและงานดีไซน์จากทั่วโลก

“อยากทำให้เชียงใหม่ ดีไซน์ วีก เป็นแลนด์มาร์คในการปักหมุดท่องเที่ยว ซึ่งทีซีดีซีพยายามผลักดันอยู่ เมื่อสำเร็จก็จะเป็นบันไดอีกขั้นที่จะก้าวขึ้นไปสู่ระดับสากล และอนาคตจะขยายไปยังจังหวัดอื่นด้วย” “ อภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน การที่เชียงใหม่เป็นแหล่งชุมนุมของฝีมือและนักสร้างสรรค์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นศิลปินที่มักจะทำงาน โดยไม่ได้คิดถึงตลาดก่อน บ่อยครั้งจึงเห็นว่างานขายไม่ได้และสุดท้ายต้องหายไป ทีซีดีซีต้องเข้ามาช่วยสอนและปรับทัศนคติใหม่ ให้ดูความต้องการตลาด แล้วค่อยมาดูว่างานของเราสามารถประยุกต์อะไรให้สอดคล้องได้ เรียกว่าหาจุดร่วมทำให้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าได้

เชียงใหม่ ดีไซน์ วีก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานความรู้จัก เพราะมีนักออกแบบและผู้ซื้อจากต่างชาติสนใจเข้าร่วมงานเยอะขึ้นจากการจัดครั้งแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งปีนั้นมีผู้ร่วมโชว์เคส 52 ราย มีผู้เข้าร่วมชมงาน 6 หมื่นคน และเม็ดเงินสะพัดกว่า 170 ล้านบาท โดยปีนี้ผู้ร่วมโชว์เคสเพิ่มเป็น 130 ราย คาดว่าจะมีผู้ร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 180 ล้านบาท ซึ่งงานเชียงใหม่ ดีไซน์ วีก จัดขึ้นทุก 2 ปีครั้ง

อภิสิทธิ์ บอกว่า สิ่งที่อยากเห็นจากนักออกแบบรุ่นใหม่ คือ จำนวนนักออกแบบไทยที่มีเพิ่มขึ้นและความถี่ที่สามารถยืนอยู่ในวงการออกแบบต่อเนื่อง ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนงานดีไซน์ของนักออกแบบไทยไม่ด้อยไปกว่าใคร โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์ แต่ที่ยังอ่อนแออยู่คืองานอินดัสเตรียลดีไซน์ เพราะไม่มีต้นแบบของตัวเอง ซึ่งทีซีดีซีจะสนับสนุนให้นักออกแบบไทยไปประกวดและอยู่บนเวทีระดับโลกมากขึ้น

ทีซีดีซีมีแผนขยายศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ เพื่อสนับสนุนงานออกแบบร่วมสมัยกับงานหัตถกรรมและงานลายเส้นในท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางไว้ที่ จ.ขอนแก่น คาดว่าจะเปิดได้ช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ส่วนภาคใต้ที่ จ.สงขลา

นอกจากงานสินค้าแล้ว ยังมีงานด้านบริการที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์สอดแทรกเข้าไปในกระบวนการคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างผลลัพธ์เพิ่มมูลค่ากว่า 200% ซึ่งบางรายเพิ่มยอดขาย ขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นตัวแปรสำคัญที่จะต่อยอดให้กลายเป็นอีกจุดแข็งของประเทศไทย เพราะไทยมีความได้เปรียบที่มีรากฐานศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นทุนเดิม หากทุกอุตสาหกรรมนำความคิดสร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบหลักพัฒนาธุรกิจ จะทำให้ไทยข้ามผ่านกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางตามยุทธศาสตร์ของประเทศได้