posttoday

"สารสนเทศชุมชน" ต่อยอดงานวิจัย สู่สตาร์ทอัพ เพื่อสังคมไทย

10 พฤศจิกายน 2559

สตาร์ทอัพไทย น้องใหม่ ที่ได้รับรางวัลสุดยอด สตาร์ทอัพไทยในงาน “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ แอนด์ ดิจิทัล ไทยแลนด์” จัดครั้งแรกในประเทศไทย

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

สตาร์ทอัพไทย น้องใหม่ ที่ได้รับรางวัลสุดยอด สตาร์ทอัพไทยในงาน “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ แอนด์ ดิจิทัล ไทยแลนด์” จัดครั้งแรกในประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทย์ฯ คือ บริษัท สารสนเทศชุมชน จาก จ.ขอนแก่น ที่แปรเปลี่ยนงานวิจัย ต่อยอดมาสู่โมเดล การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชน และสร้างเป็น บริษัทสตาร์ทอัพไทยได้อย่างดี

“ธีรภัทร์ บุตรโคตร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สารสนเทศชุมชน เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของ “ดร.เผด็จ จินดา” จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้พัฒนาโปรแกรมสารสนเทศชุมชน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชนขึ้น มาสำเร็จ ทำให้สนใจต่อยอดนำมาขยายผลสู่การนำโปรแกรมนี้มาต่อยอดพร้อมให้บริการกับชุมชนต่างๆ ทั้วประเทศ รวมถึงหน่วยงานอย่าง เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้เช่นเดียวกัน

“ทีมงานก่อตั้งมีจำนวน 8 คน โดยมี ดร.เผด็จ ที่เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง และผมที่เรียนจบด้านปริญญาเอก ด้านไอที จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มาร่วมการพัฒนาองค์กร และการร่วมนำโปรแกรมไปทำให้กลุ่มคนในชุมชนได้รับประโยชน์” ธีรภัทร์ กล่าว

“สารสนเทศชุมชน” หรือโปรแกรมการบริหารจัดการท้องถิ่น จะสามารถจัดเก็บข้อมูลทุกด้านของชุมชนไว้อย่างครบถ้วน ไม่ต่ำกว่า 44 ข้อมูลเบื้องต้นที่ภาครัฐสั่งการให้องค์กรท้องถิ่นจะต้องเก็บข้อมูลไว้ พร้อมกันนี้ ยังรวบรวมข้อมูลไปจนถึงรูปภาพ แผนที่ และพิกัดของสถานที่ตำแหน่ง แหล่งน้ำ ไปจนถึงถนน ทำให้ชุมชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำมาบริการจัดการคนในชุมชนให้ได้ผลดีมากที่สุด อาทิ การทำเกษตร แหล่งน้ำ การพัฒนาพื้นที่เพื่อผู้สูงอายุ การลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อชุมชน การศึกษา เป็นต้น

รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล ยังอยู่บนระบบ คลาวด์ ที่ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย โดยโปรแกรมนี้ยังออกแบบให้มี นักสำรวจข้อมูล ในพื้นที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของชุมชน เพื่อนำไปประมวลผลและพัฒนาชุมชน ทำให้คนทำหน้าที่นักสำรวจในพื้นที่จะมีรายได้ประจำด้วย อีกทั้งประชาชนก็สามารถนำข้อมูลไปประเมินผล เพื่อประเมินว่า การเข้ามาลงทุนด้านต่างๆ ในชุมชนจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เช่น การลงทุนการเกษตร การเพาะปลูกพืชต่างๆ ข้อมูลร้านค้า และตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้โปรแกรมยังต่อยอดไปจนถึง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับมัคคุเทศน์ และการสร้างโรงพยาบาล รวมถึงข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชน โดยทีมงานเชื่อมั่นว่า การมีโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับชุมชนและประชาชนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนของประเทศไทยได้อย่างมาก

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายทั้งหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ที่ใช้บริการโปรแกรมสารสนเทศชุมชน จะคิดค่าบริการรายเดือน เริ่มต้นที่ 999 บาท และประชาชนในชุมชนก็จะได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ฟรี โดยมีหน่วยงาน ทั้ง เทศบาลในพื้นที่ภาคอีสาน และหน่วยงานเขต กทม. ใช้บริการแล้ว ซึ่งกำลังขยายกลุ่มลูกค้าไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

“ธีรภัทร์” กล่าวต่อว่า การได้รับรางวัล สุดยอด สตาร์ทอัพไทย ในครั้งนี้ ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น และมีลูกค้าในอาเซียนหลายประเทศ ทั้งประเทศเวียดนามและกัมพูชา สนใจติดต่อโปรแกรมของสารสนเทศชุมชน เพื่อนำไปใช้บริการแล้ว ดังนั้น โปรแกรมจึงมีความต้องการจากลูกค้าสูงมาก

“แนวคิดการทำโปรแกรมนี้ อยากให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และเริ่มมองภาพจากจุดเล็กๆ คือชุมชน และประชาชน ที่สามารถนำไปขยายต่อเนื่องไปยังชุมชน ให้มีความแข็งแกร่งและจะต่อเนื่องไปจนถึงระดับประเทศได้เช่นกัน” “ธีรภัทร์” กล่าว

เป้าหมายต่อไป จะมุ่งขยายการให้บริการใหม่ๆ พร้อมกับการพัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้าง “สารสนเทศชุมชน” ที่ดีแก่ผู้ใช้งาน และชุมชนต่างๆ มากที่สุด รวมถึงการต่อยอดเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานและภาคธุรกิจ ในพื้นที่ จะสร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้แก่ชุมชนในประเทศไทย