posttoday

เอ็กซิมแบงก์ดันเอสเอ็มอีส่งออก

14 มิถุนายน 2559

"เอ็กซิมแบงก์" เบนเข็มให้กู้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ควบประกันการค้าการลงทุน ตั้งเป้าปีนี้โต 10-15%

"เอ็กซิมแบงก์" เบนเข็มให้กู้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ควบประกันการค้าการลงทุน ตั้งเป้าปีนี้โต 10-15%

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ทิศทางการทำงานของเอ็กซิมแบงก์จากนี้จะเน้นการใช้สินเชื่อควบคู่ประกันการส่งออกและลงทุน โดยเฉพาะการประกันการส่งออกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ จะออกมาช่วยผู้ประกอบการ โดยจะ เปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าผู้ส่งออกเอสเอ็มอี 10-15% ของจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีที่ส่งออกทั้งหมด 3.7 หมื่นราย หรือเพิ่มขึ้นอีก 3,000-4,500 ราย จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า เอสเอ็มอีผู้ส่งออก 1,400-1,500 ราย คิดเป็นสัดส่วน 80% ของฐานลูกค้าทั้งหมด มียอดวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้ผู้ส่งออก เอสเอ็มอีรวม 3.1 หมื่นล้านบาท คิด เป็น 40% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่ 7.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับนโยบายการหาลูกค้าจะบุกตลาดไปพร้อมกับหน่วยงานของรัฐในรูปไทยแลนด์ทีม ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เน้นช่วย ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปลงทุนทำการค้ากับกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศตลาดใหม่ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เช่น รัสเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และอิหร่าน

นอกจากนี้ จะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นช่องทางใหม่ๆ ในการเสนอแพ็กเกจทางการเงินของธนาคารถึงผู้ประกอบการ รวมทั้งทยอยเปิดสำนักงานตัวแทนใน ซีแอลเอ็มวี คาดว่าแห่งแรกจะเปิดได้ที่เมียนมาภายในปีนี้ และปีหน้าอีก 2 แห่ง

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประกอบการที่ธนาคารจะให้การสนับสนุน แบ่งเป็น 1.ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ หรือสตาร์ทอัพ 2.กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูง มียอดขายและเติบโตต่อเนื่อง พร้อมขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็ง 4.ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพแต่ยังแข่งขันในตลาดระดับบนไม่ได้ โดยธนาคารจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ย้ายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งการรับประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยไม่แย่งลูกค้ากับธนาคารพาณิชย์ แต่จะพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อส่งไปเป็น ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ต่อไป