posttoday

กูรูเตือนธุรกิจเอสเอ็มอีเร่งรุกออนไลน์ก่อนจีนบุก

10 มิถุนายน 2559

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังมาแรง แต่มีธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีเพียง 5 แสนราย ที่เข้ามาทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังมาแรง แต่มีธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีเพียง 5 แสนราย ที่เข้ามาทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และในปีนี้ตัวเลขการเติบโตยังเท่าเดิมคือ 20-25% แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีธุรกิจขนาดกลางและย่อมอีกมากที่ไม่เข้ามาทำตลาดนี้ ในขณะที่ธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีการซื้อขายประเภทโซเชียลคอมเมิร์ซ กลับมีโอกาสเติบโตมากถึง 30-35% ยิ่งคนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นโอกาสของภาคธุรกิจรายใหม่เข้ามาแทนที่มากกว่า

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ถ้าจะถามว่าคนใช้งานโซเชียลมีเดียหรือช่องทางออนไลน์มากเท่าใด ให้ดูมูลค่ารายได้ของกูเกิลที่เคยประกาศในไตรมาสล่าสุดของปี 2559 อยู่ที่ 2.61 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณแผ่นดินของไทยปี 2558 อยู่ที่ 2.33 ล้านล้านบาท

"แม้ว่าจะเกิดการถอยทัพของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างเอ็นโซโก้ ราคูเท็น หรือกรุ๊ปปอง แต่จะเห็นโซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นมาแทนที่ โดยปัจจัยที่ทำให้เติบโตนั้นเพราะฟรี รวมทั้งเป็นช่องทางการใช้งานที่คุ้นเคยและเข้าถึงคนได้จำนวนมาก แต่โซเชียลคอมเมิร์ซไม่ได้เหมาะกับทุกธุรกิจ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องบริหารจัดการช่องทางต่างๆ อย่างเหมาะสม" ภาวุธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่ลาซาด้าถูกอาลีบาบาเข้าซื้อกิจการ ในมุมมองของ ภาวุธ คิดว่าจะเริ่มเกิดการหลั่งไหลของสินค้าจากจีนเข้ามาขายในช่องทางของลาซาด้ามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าแบบเดียวกับจีนต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสในการขายให้มากขึ้น เพราะหากไม่เร่งปรับตัวจะเสียโอกาสและต้องปิดตัวไปเอง

ธรรม์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-ธุรกิจออนไลน์ บริษัท ซีโอแอล กล่าวถึงการทำตลาดแบบออมนิแชนแนล ว่า ออมนิแชนแนลเป็นการตลาดที่ได้รับความนิยม เพราะธุรกิจส่วนใหญ่จะเริ่มจากออฟไลน์เข้ามาสู่ออนไลน์

"ภาคธุรกิจที่เริ่มต้นทำออมนิแชนแนลควรที่จะวางระบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้เชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องของพฤติกรรมการใช้จ่าย การค้นหาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โปรโมชั่นและสต๊อกสินค้า เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าในการเข้าซื้อสินค้าของแบรนด์ หากสต๊อกสินค้าเชื่อมโยงกันจะทำให้ทราบว่าสินค้าใดควร สั่งซื้อเพิ่มหรือลด ถือว่าเป็นการให้บริการที่มีทั้ง ภาพลักษณ์ที่ดี สะดวกสบายแก่ลูกค้า กระตุ้นให้ เกิดการเข้ามาใช้งานซ้ำอีกด้วย" ธรรม์ กล่าว

สรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า การขายของออนไลน์สำหรับผู้เริ่มต้นจะต้องใช้ไม้เด็ด 7 ข้อ ดังนี้ 1.แผนการตลาด 2.งบประมาณ 3.สินค้าที่จะนำมาขาย 4.เว็บไซต์ 5.บริการชำระเงิน 6.บริการจัดส่ง และ 7.บริการหลังการขาย

"การทำตลาดออนไลน์ช่วงแรกควรวางแนวทางให้ดีก่อน ช่วงแรกอาจใช้มืออาชีพมาช่วยเมื่อมียอดขายที่ดีพอ เริ่มมีความเชี่ยวชาญจากกลยุทธ์ 7 ข้อด้านบนที่มากพอค่อยลงทุนทำเอง เพราะการมีเว็บไซต์ของบริษัทตนเองจะเป็นการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าที่ดีที่สุด ส่วนโซเชียลมีเดียให้เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการตลาดก็เพียงพอแล้ว" สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าออนไลน์ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำนั้น สินค้าจะต้องมีความแตกต่างจากเว็บอื่น ตอบสนองด้านบริการด้วยความรวดเร็ว ทำให้ลูกค้ารู้สึกประหยัดทั้งเงินและเวลา สื่อสารให้เกิดความเชื่อใจและซื้อใจลูกค้า จัดโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า หากเกิดความผิดพลาดต้องรีบแก้ไขและรับผิดชอบอย่างทันท่วงที