posttoday

นราธิวาสปั้น ‘รังนก-ยางพารา’ สินค้าพรีเมียมชายแดนใต้

13 พฤษภาคม 2559

นราธิวาสนั้นเป็นพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาในหลายๆ

โดย...วิชยันต์ บุญโชติ

นราธิวาสนั้นเป็นพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สิทธิชัย ศักดา ผวจ.นราธิวาส ก็ได้เปิดตัวโครงการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการร่วมกันของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบมหาวิทยาลัยทักษิณ (CLC) และสำนักงานอุตสาหกรรมนราธิวาส เพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่น

“หวังว่าผลลัพธ์และผลผลิตของโครงการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ จะเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ผวจ.นราธิวาส กล่าว

ฮัดสัน สิริสุวพงศ์ ผู้อำนวยการ CLC กล่าวว่า ได้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ยางพาราและรังนก เนื่องจากแนวโน้มของตลาดโลกศักยภาพของทรัพยากรท้องถิ่นชายแดนใต้ และกรอบเวลาในการดำเนินโครงการรังนกและยางพารา เป็นทรัพยากรที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

“มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกระบวนการคัดกรองทั้งหมด 776 ราย ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ เช่น ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพและความงาม 2.ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เอง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้ขยะและพลังงาน และ 3.ผลิตภัณฑ์ที่เป็นการเพิ่มอาชีพ แรงงาน และรายได้ให้กับชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ปกปัก บุญชู อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนจำนวน 9 ล้านบาท และมีหลายฝ่ายร่วมมือกันผลักดัน ประกอบด้วย สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานจังหวัดสงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมนราธิวาส CLC สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ที่ร่วมแรงร่วมใจประสานงานและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในโครงการนี้อย่างเต็มที่

“โครงการกิจกรรมและเครือข่ายที่เราร่วมสร้างกันในวันนี้จะเป็นมิติและพลังใหม่ของการทำงานร่วมกันแบบสร้างสรรค์ของทุกๆ ฝ่าย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อการสร้างสรรค์บ้านเมืองของเราต่อไปในอนาคต”

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ การวางฐานโครงสร้างเศรษฐกิจให้ชายแดนภาคใต้ที่บอบช้ำจากสถานการณ์ไม่สงบกลับคืนสู่ความสงบสุข