posttoday

'ตุ๊กตามโนราห์'เมืองตรัง

26 กุมภาพันธ์ 2559

มโนราห์ หรือโนรา นับเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองชื่อดังของภาคใต้ โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ผู้ชมให้ความนิยมชมชอบก็คือ เครื่องแต่งกาย

โดย...เมธี เมืองแก้ว

มโนราห์ หรือโนรา นับเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองชื่อดังของภาคใต้ โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ผู้ชมให้ความนิยมชมชอบก็คือ เครื่องแต่งกาย เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น กลุ่มสตรีชาว ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มทำตุ๊กตามโนราห์ขึ้นเมื่อปี 2542 โดยมีสมาชิกจำนวน 12 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์มโนราห์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว

อโนทัย ไหวพริบ ประธานกลุ่มทำตุ๊กตามโนราห์บ้านนาข้าวเสีย เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากชาว อ.นาโยง โดยเฉพาะใน ต.นาข้าวเสีย ประมาณ 80-90% มีความผูกพันต่อมโนราห์มาอย่างเหนียวแน่นนับตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ทางกลุ่มจึงได้เริ่มประดิษฐ์ตุ๊กตามโนราห์ขึ้นจำนวน 2 ท่า คือ ท่าเทพพนม และท่าเขาควาย หรือผาหลา ซึ่งมีลักษณะท่ารำเหมือนกับของจริงทุกอย่าง เพียงแต่มีขนาดย่อลงมา 10 เท่า รวมทั้งใช้วัสดุในการตกแต่งเครื่องแต่งกายเหมือนกับของจริงทุกประการด้วย

ตุ๊กตาแต่ละตัวจะใช้ระยะเวลาในการประดิษฐ์ประมาณ 3 วัน และจำหน่ายในราคาตัวละ 2,500 บาท ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ เพราะเหมาะสำหรับการนำไปมอบให้ในโอกาสสำคัญ รวมทั้งสอดรับต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ เช่น พัทลุง สงขลา ที่นำตุ๊กตามโนราห์ไปใช้บูชา หรือใช้รำแก้บนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำมโนราห์ชุดใหญ่ไปแสดงจริงๆ

ล่าสุด กลุ่มทำตุ๊กตามโนราห์บ้านนาข้าวเสีย ยังได้ต่อยอดไปยังการประดิษฐ์ชุดมโนราห์ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจเรียนรู้การแสดงพื้นเมืองมากขึ้น และมียอดการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการผลิตทั้งเทริด ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรง หรือโนราใหญ่ รวมถึงเครื่องรูปปัด ปีกนกแอ่น ซับทรวง ปีก(หางหงส์) ผ้านุ่ง หน้าเพลา ผ้าห้อย หน้าผ้า หน้าพราน ฯลฯ โดยมีราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายพัน และหลายหมื่นบาท

อารีย์ ขวัญศรีสุทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาข้าวเสีย กล่าวว่า เนื่องจากตัวหุ่นที่นำมาประดิษฐ์ตุ๊กตามโนราห์นั้นยังทำด้วยเรซิน จึงมีความทนทานน้อย และดัดแปลงท่าต่างๆ ได้ไม่ค่อยสวยงามนัก ทางกลุ่มจึงประสานให้ อบต.นาข้าวเสีย ช่วยทำการสนับสนุนเบ้าหุ่นแบบขี้ผึ้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 2 หมื่นบาท  เพื่อเป็นการพัฒนาการผลิตตุ๊กตามโนราห์ได้ครบทั้ง 12 ท่าต้นแบบ หรือท่าสิบสอง โดยจะทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่ออกมามีความสวยงามและคงทนมากยิ่งขึ้น

ด้วยความรักและผูกพันต่อศิลปะท้องถิ่น เมื่อนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงทำให้ตุ๊กตามโนราห์นาข้าวเสีย มีความงดงามและได้รับความนิยม