posttoday

‘บุหลันดั้นเมฆ’ ตลาดคลองสวน ขนมโบราณที่ลูกหลานยังไม่ลืม

12 มกราคม 2559

ในบรรดาขนมไทยที่หารับประทานยากในยุคปัจจุบัน “บุหลันดั้นเมฆ”

โดย...ตรีนัยน์ จันทร์ศรีชล

ในบรรดาขนมไทยที่หารับประทานยากในยุคปัจจุบัน “บุหลันดั้นเมฆ” ถือเป็นหนึ่งในขนมไทยที่เข้าข่ายในกลุ่มนี้ ทั้งที่ขนมชนิดนี้เป็นขนมโบราณที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงสุด จนได้ชื่อว่าเป็นขนมในวังทีเดียว

บุหลันดั้นเมฆ เป็นขนมไทยที่มีรูปลักษณ์น่ารับประทาน มีหลายสี แต่สีที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ สีฟ้า มีใจกลางสีเหลือง เนื้อขนมทำด้วยแป้ง มีรสชาติหอมหวาน รับประทานง่าย

คำว่า บุหลันดั้นเมฆ มีที่มาจาก บุหลันลอยเลื่อน เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงประพันธ์ขึ้นมาจากพระสุบินว่า พระองค์เสด็จฯ ยังดินแดนที่งดงามราวสรวงสวรรค์ ก้อนเมฆบนท้องฟ้าลอยเลื่อนเข้ามาใกล้พระองค์

พลันปรากฏจันทร์เต็มดวงที่งดงามที่สุดในที่แห่งนั้น ท่ามกลางทิพยดุริยางค์ที่ก้องกังวานไปทั่วราตรี เมื่อทรงตื่นพระบรรทม พระองค์ทรงนำซอสามสาย ชื่อสายฟ้าฟาด มาประพันธ์ท่วงทำนองในพระสุบินเป็นบทเพลงชื่อ บุหลันลอยเลื่อน และเป็นเพลงประกอบการแสดงเรื่องอิเหนา ในพระราชนิพนธ์ของพระองค์เองด้วย

ปรากฏว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์เป็นที่ชื่นชอบของชาววังเป็นอย่างมาก จึงคิดทำขนมหวานที่เปรียบเสมือนจันทร์เต็มดวงในคืนเดือนงามขึ้น โดยก้อนเมฆในจินตนาการนั้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้าคลุกเคล้าเข้ากับน้ำตาล แล้วแต่งสีของก้อนเมฆด้วยน้ำดอกอัญชัน ส่วนบุหลัน ซึ่งแปลว่าดวงจันทร์ ได้ใช้สีเหลืองของสังขยาเข้ามาแทนที่

ปัจจุบัน บุหลันดั้นเมฆมีทำจำหน่ายกันอยู่เพียงไม่กี่ร้านในประเทศไทย แต่ร้านที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักเห็นจะไม่มีใครเกิน ร้านนันท์นภัส ที่ตั้งอยู่ภายในตลาดคลองสวน 100 ปี จ.ฉะเชิงเทรา

ศิริรัตน์ หวังอรุณโรจน์ เจ้าของร้าน บอกว่า เป็นครอบครัวนักทำขนมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จึงทำขนมบุหลันดั้นเมฆมาจำหน่าย ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

“ทางร้านจะไม่ทำขนมให้มีรสหวานจัด แต่จะเน้นให้มีรสหวานที่คนทำขนมเรียกว่ารสหวานลูกไม้”

ด้วยความที่บุหลันดั้นเมฆเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่ฟังแล้วดูดี ประกอบกับมีสีฟ้าของดอกอัญชัน ตัดกับสีเหลืองของสังขยา ทำให้หน้าตาของบุหลันดั้นเมฆสวยสดน่ารับประทาน จึงได้รับการตอบรับจากลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ

นอกจากนี้ ทางร้านยังมีขนมตะลุ่ม ซึ่งเป็นขนมโบราณ ที่มีส่วนผสมคล้ายขนมถ้วยตะไล คือมีส่วนของส่วนหน้าและส่วนของตัวขนม แต่ผิดกันตรงที่ว่า ในส่วนหน้าของขนมตะลุ่ม ทำหน้าเป็นสังขยา ส่วนขนมถ้วยตะไล ส่วนที่เป็นหน้าทำด้วยกะทิ

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ขนมโบราณของไทยก็ถือเป็นจุดขายที่แตกต่างจากขนมทั่วไป ด้วยคุณค่าความประณีตสวยงาม และรสชาติละมุน