posttoday

จับกระแสร้านกาแฟสดในเมียนมา

28 ธันวาคม 2558

ชาเมียนมา Royal Myanmar Teamix เป็นของฝากยอดนิยมลำดับแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก

ภาพ : เอเอฟพี

ชาเมียนมา Royal Myanmar Teamix เป็นของฝากยอดนิยมลำดับแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการดื่มชานั้น เป็นที่นิยมในเมียนมาเป็นอย่างมาก และสืบทอดมาเป็นเวลานาน

หลายท่านที่มีโอกาสไปเที่ยวเมียนมา คงจะได้สังเกตเห็นร้านน้ำชามากมาย ที่มีโต๊ะเตี้ยๆ และเก้าอี้ตัวเล็ก มีผู้คนจับกลุ่มนั่งจิบน้ำชากัน จนมีคำถามว่า ธุรกิจกาแฟนั้นจะสามารถทำตลาดในเมียนมาได้หรือไม่

ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา มีร้านกาแฟสดที่ใช้เครื่องสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย อาจเป็นเพราะตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และจำนวนชาวต่างชาติที่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในกรุงย่างกุ้งนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีความต้องการร้านกาแฟสดสมัยใหม่ ที่มาพร้อมกับการตกแต่งร้านที่โดดเด่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว และคนต่างชาติ รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ในย่างกุ้งให้เข้าไปใช้บริการดื่มกาแฟสดพร้อมแล็ปท็อปคู่ชีพ หรือเป็นที่นัดหมาย ประชุมนัดคุยงานต่างๆ ในร้านกาแฟ

ในย่างกุ้งมีร้านกาแฟขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศอยู่หลายร้าน แต่ผมขอเสนอกรณีศึกษาของ 2 แบรนด์ใหญ่จากประเทศไทย ได้แก่ ทรู คอฟฟี่ และแบล็คแคนยอน คอฟฟี่

ทั้งสองรายนี้เข้าสู่ตลาดเมียนมาด้วยการให้สิทธิแฟรนไชส์กับนักธุรกิจท้องถิ่น แต่ต่างกันที่แบล็คแคนยอน คอฟฟี่ นั้นมีการเปิดบริการในเมียนมามาเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปี และปีนี้มีการเปลี่ยนการให้สิทธิแฟรนไชส์ให้กับนักธุรกิจรายใหม่

ขณะที่ฝั่งทรู คอฟฟี่ เปิดตัวในรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ แล้ว ยังมีอาหารแบบตะวันตกให้บริการอีกด้วย และมีที่สนใจคือ มีการรวมคอนเซ็ปต์ของโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (Co-Working Space) เข้ามาด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ทำงานอยู่ในกรุงย่างกุ้งเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของการตั้งราคาขายนั้นเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพื่อคงความมาตรฐานของรสชาติ และมาตรฐานของแฟรนไชส์ ซึ่งทรู คอฟฟี่ ตั้งราคาขายปลีกสูงไปนิด แต่ถ้าแลกกับที่นั่งทำงานสบายๆ แอร์เย็นๆ พื้นที่กว้างขวาง อาจทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อแลกกับบริการอื่นที่นอกเหนือจากกาแฟก็เป็นได้

ในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์เข้าสู่ต่างประเทศเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งในการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจ และการปรับรูปแบบให้เข้ากับตลาดนั้นๆ ได้ แต่ก็ยังต้องรักษาอัตลักษณ์ของแบรนด์ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปอีกด้วย