posttoday

ข้าวหลามสังขยา ของดีเมืองวัฒนานคร

21 ธันวาคม 2558

ข้าวหลามเป็นขนมไทยที่นำข้าวเหนียวกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก เมื่อปอกไม้ไผ่ออกจะมีเยื่อไม้ไผ่หุ้มข้าวเหนียวติดแน่นอยู่

โดย...สวาท เกตุงาม

ข้าวหลามเป็นขนมไทยที่นำข้าวเหนียวกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก เมื่อปอกไม้ไผ่ออกจะมีเยื่อไม้ไผ่หุ้มข้าวเหนียวติดแน่นอยู่ น่ารับประทาน แต่ละท้องถิ่นจะมีรสชาติแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับส่วนผสม เช่น ข้าวหลามในแถบ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ จะผสมกะทิกับงา  ไม่แฉะ ข้าวหลามหนองมน จ.ชลบุรี ใส่กะทิ น้ำตาล และถั่ว แฉะกว่า ส่วนข้าวหลามวัฒนานคร จ.สระแก้ว จะผสมสังขยา

ข้าวหลามสังขยาวัฒนา นครเดิมมีเฉพาะในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวและย่างเข้าสู่ฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูหนาวจะก่อไฟผิงนอกบ้านหรือหน้าบ้านการเผาข้าวหลามจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นขณะผิงไฟแก้หนาว และ
ตอนเช้าๆ ก็จะได้ข้าวหลามมากินขณะผิงไฟไปด้วย

บาง สุนิปา หรือ ป้าบาง ประธานกลุ่มผลิตข้าวหลามบ้านพร้าว ต.วัฒนานคร อ.วัฒนา นคร จ.สระแก้ว ช่วงปี 2544 สมชาย ชุ่มรัตน์ ผวจ.สระแก้วในขณะนั้น ได้ส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรโดยยกข้าวหลามสังขยาวัฒนานครเป็นข้าวหลามสังขยาที่มีรสชาติอร่อย แปลกกว่าที่อื่น และจากการประชาสัมพันธ์ข้าวหลามสังขยาวัฒนานคร ทำ ให้ขายดิบขายดีและมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่ว นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาจากตลาดโรงเกลือ ถ้าไม่มาซื้อข้าวหลามสังขยาวัฒนานครถือว่ายังมาไม่ถึงสระแก้ว

“ข้าวหลามสังขยาวัฒนานครจึงเป็นของฝากที่ดีเยี่ยม ทำให้มีแม่ค้าพ่อค้าในพื้นที่บ้านพร้าว บ้านจิก บ้านสระลพ และในเขตเทศบาล ต.วัฒนานคร ต่างหันมาประกอบอาชีพทำข้าวหลามไม่น้อยกว่า 10 เจ้า”

ป้าบาง เล่าอีกว่า ช่วงปี 2551 ข้าวหลามสังขยาวัฒนานครประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญยิ่ง คือ กระบอกไม้ไผ่ เนื่องจากไม้ไผ่ที่นำมาเผาข้าวหลามต้องเป็นไผ่สีสุกเท่านั้น ส่วน ไผ่ชนิดอื่นไม่มีเยื่อเหมือนไผ่ ชนิดนี้ เมื่อไม้ไผ่ลดจำนวนลงทำให้ผลิตข้าวหลามไม่ทันคนซื้อ เมื่อไม้ไผ่ไม่มีการทำข้าวหลาม ก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น คือ ข้าวหลามป้าบาง กับข้าวหลามป้าสำรวย

“ปัจจุบันการสืบทอดการเผาข้าวหลามมีน้อยมาก ประกอบกับลูกหลานรุ่นใหม่ไม่ชอบใช้แรงงาน จะออกไปทำงานที่อื่นหมด มีเพียงคนเก่าคนแก่เท่านั้น ทำให้การทำข้าวหลามสังขยาเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 10 ราย เหลือเพียง 2 ราย ที่ยืนหยัดสู้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าวัตถุดิบจะมีราคาสูงขึ้นก็ตาม แต่ป้าบางกับป้าสำรวยยังยึดอาชีพนี้อยู่ด้วยรักและชอบ” ป้าบาง บอกถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ผลิตของฝากขึ้นชื่อเมืองวัฒนานครที่เหลืออยู่เพียง 2 รายเท่านั้น

ข้าวหลามสังขยาบ้านพร้าวเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว เริ่มแรกขายกระบอกละ 1 บาท มาถึงปัจจุบันข้าวหลามสังขยาขายกระบอกละ 50 บาท ถ้าเป็นข้าวหลามธรรมดาขาย 3-4 กระบอก 100 บาท รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือวันละ 1,000-2,000 บาท

“ข้าวหลามวัฒนานครเป็นเจ้าตำรับของข้าวหลามสังขยา 3 รส เป็นสินค้าโอท็อปของ อ.วัฒนานคร ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร” ป้าบางทิ้งท้าย เชิญชวนให้ผู้ผ่านไปมาได้แวะชิม