posttoday

มโนราห์ ‘หน้าพรานจิ๋ว’ ของดีจากเมืองตรัง

08 ธันวาคม 2558

มโนราห์ ศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนาน

โดย...เมธี เมืองแก้ว

มโนราห์ ศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนาน แม้ว่าช่วงหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่กระจายอย่างรุนแรง แต่ท้ายที่สุดก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ปฏิพัฒน์ สัจบุตร หรือ “กิ๊ก” และ ณัฐพงษ์ สัจบุตร หรือ “แก๊ก” สองพี่น้องชาวหมู่ 4 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ได้ช่วยกันสืบสานมโนราห์ หรือโนราห์ ศิลปวัฒนธรรมชื่อดังของภาคใต้ ที่ทั้งคู่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อคือ “ประเทือง สัจบุตร” และบรรพบุรุษ ด้วยการประดิษฐ์ส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดง โดยเฉพาะเทริด ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะของมโนราห์ จนมีผู้สั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำนวนมาก ก่อนที่จะหันมาคิดทำส่วนประกอบการแสดงขนาดเล็ก เพื่อรองรับกลุ่มผู้สนใจที่นำไปไว้สำหรับการบูชา เนื่องจากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือที่ชาวใต้เรียกว่า “ตายาย” ให้การคุ้มครอง

ทั้งนี้ แรกเริ่มสองพี่น้องได้ประดิษฐ์ “เทริด” มีขนาดเล็กกว่าปกติ 5 เท่า แม้จะมีความสวยงามไม่ต่างกัน แต่มีราคาค่อนข้างสูง คือ ชุดละ 2,000 บาท จึงทำให้ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มผู้ศรัทธาแค่บางส่วน ดังนั้น สองพี่น้องจึงหันมาคิดทำ “หน้าพราน” หรือหน้ากากตัวตลกชายของมโนราห์ที่มีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า เพื่อใช้สำหรับการห้อยกับสร้อยคอ หน้ารถ หรือขึ้นหิ้งบูชา ในฐานะเครื่องรางของขลัง โดยช่วงเริ่มต้นเป็นที่ชื่นชอบเฉพาะกลุ่มนักแสดงมโนราห์เท่านั้น แต่ล่าสุดกลับได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งใน จ.ตรัง และข้างเคียง เช่น จ.พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี ระนอง

ปฏิพัฒน์ บอกว่า หน้าพรานขนาดปกติราคาขายชิ้นละ 1,300-1,500 บาท ขณะที่หน้าพรานขนาดจิ๋ว ราคาขายชิ้นละ 199 บาท โดยใช้ “ไม้ยอ” ในการประดิษฐ์ เนื่องจากเป็นไม้มงคลและมีเนื้อละเอียดจึงง่ายต่อการแกะสลัก แต่กว่าจะผลิตผลงานออกมาได้นั้นมีขั้นตอนละเอียดและพิถีพิถันพอสมควร โดยใช้เวลาทำประมาณชิ้นละ 1 ชั่วโมง หรือทำได้ประมาณวันละ 10 ชิ้น เนื่องจากต้องใช้ขวานถากขึ้นรูปแล้วตัดด้วยเลื่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปร่างแบบ แล้วลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว ลงสีน้ำมัน และใส่ผมโดยทำหน้าพรานหลายรูปแบบ ทั้งหน้าสีแดง สีทอง สีดำ หรือสีม่วง

กลยุทธ์การรุกตลาดนั้นจะมีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาโดยตรงเดือนละไม่ต่ำกว่า 150 ชิ้น จนผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มชาวใต้ที่มีเชื้อสายมโนราห์ ซึ่งจะนำหน้าพรานเหล่านี้ไปลงอักขระหรือลงยันต์บริเวณด้านหลัง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ที่บูชา นอกจากนี้สองพี่น้องกำลังประดิษฐ์หน้าทาสี หรือหน้ากากตัวตลกหญิงของมโนราห์ให้มีขนาดจิ๋ว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะมีกระแสเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น ทั้งนี้เชื่อว่ารูปแกะสลักดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และช่วยสืบสานมโนราห์ให้คงอยู่กับชาวใต้ต่อไป