posttoday

‘ในฝันหัตถศิลป์’ เครื่องดินเผาแต่งผ้าไหม

23 พฤศจิกายน 2558

ความชื่นชอบในเรื่องงานประดิษฐ์ของตกแต่งสารพัด และความฝันที่อยากจะมีงานและร้านเป็นของตัวเอง

โดย...ตรีนัยน์ จันทร์ศรีชล

ความชื่นชอบในเรื่องงานประดิษฐ์ของตกแต่งสารพัด และความฝันที่อยากจะมีงานและร้านเป็นของตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ผลักดันให้ กานต์สินี พงศ์ศรีสุข ลาออกจากงานประจำหันมาเอาจริงเอาจังกับงานในฝันของตัวเอง

ในที่สุดด้วยระยะเวลาถึง 5 ปี ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทั้งทางด้านงานหัตถศิลป์ต่างๆ เธอคนนี้สามารถทำให้บ้านเล็กๆ ที่ ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นศูนย์แสดงงานหัตถกรรมวิถีไทยให้กับนักท่องเที่ยวได้มาชมกัน

“ในฝันหัตถศิลป์” เป็น ชื่อของร้านหัตถกรรมแห่งนี้ที่กำลังกลายเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวพัทยา หลายต่อหลายคนเจองานฝีมือแบบนี้ของคนไทยต่างควักกระเป๋าซื้อกันอย่างไม่เสียดาย

งานหัตถศิลป์ของที่นี่รับประกันทำด้วยมือทุกชิ้น เรียกว่าเป็นงานแฮนด์เมกอย่างแท้จริง และที่ได้รับความนิยมสูงสุด มียอดการสั่งซื้อและจำหน่ายมากที่สุดคือ งานประเภทผลิตภัณฑ์ดินเผาตกแต่งผ้าไหม หรือการเอาเครื่องปั่นดินเผามาทำลวดลายต่างๆ ด้วยผ้าไหมไทย

“ผ้าไหมของไทยเป็นงานศิลปะที่มีความสวยงามอยู่ในตัวเอง แสดงให้เห็นความอ่อนช้อย สวยงามและเสน่ห์บนลายผ้าที่จะหาตัวเปรียบเทียบด้วยยาก ส่วนดินเผาก็ต้องสั่งทำกันเป็นพิเศษ จะต้องมีการพิถีพิถันในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะมาทำงานประเภทนี้อย่างมาก เนื้อดินที่นำมาใช้ต้องเป็นดินเหนียวที่มีความละเอียด ไม่มีเมล็ดทรายสอดแทรกอยู่ เพราะในขั้นตอนการทำนั้นเป็นการนำวัสดุที่มีเนื้อที่ต่างกัน มาผสมผสานกันให้เกิดความสวยงาม เมล็ดทรายเพียงเม็ดเดียว อาจจะทำให้งานเกิดจุดด้อย หรือจุดเสีย ทันที”

กานต์สินี บอกว่า งานที่ง่ายที่สุดคือการนำโอ่งดินเผาขนาดเล็กมาตกแต่งด้วยผ้าไหมใน ระยะเวลา 1 วัน ทำได้ไม่ถึง 10 ลูก และหากต้องนำมาประกอบตกแต่งด้วยดอกไม้เทียมที่ต้องปั้นจากดินญี่ปุ่น วันหนึ่งๆ สามารถทำได้เพียง 3 ชิ้นงานเท่านั้น ด้วยความที่เป็นงานที่ทำค่อนข้างยาก และเป็นงานที่ต้องใช้ใจรัก ทำให้มีงานประเภทนี้ออกมาสู่ท้องตลาดไม่มากนัก โดยเฉพาะภาคตะวันออก กานต์สินีกล้าพูดว่า มีเธอเพียงคนเดียวที่ทำอย่างจริงจังและทำเป็นอาชีพ

เหตุใด ทำไมเป็นเช่นนั้น? เธอบอกว่า กว่าจะได้งานออกมาแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานาน และที่สำคัญเมื่อได้ผลงานออกมา หากทำตลาดไม่เป็นหรือไม่มีตลาดรองรับ เงินที่ลงทุนไปจะต้องจมอยู่อย่างนั้น จำเป็นต้องขายผลงานออกไปในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง ในที่สุดก็จะเลิกทำกันไป

แต่สำหรับกานต์สินีถือว่าทำแล้วอยู่ได้ ทำแล้วรายได้ดีกว่างานประจำ เพราะมีสถานที่จัดจำหน่ายและแสดงสินค้าอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถมาชมและมาดูการทำด้วยตาตัวเอง ทำให้เกิดการ
กระจายสินค้าได้ในวงกว้าง และลูกค้าที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่ ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวนั่นเอง