posttoday

ผ้าเพนต์‘อิ่มบุญ’ งานศิลป์อินเตอร์เมืองพะเยา

25 มิถุนายน 2558

กว่า 10 ปีแล้วที่ โอ๋ หรือ อังศุมาลิน บุญทา สาวเมืองกรุง บัณฑิตสาขาออกแบบพัตราภรณ์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

กว่า 10 ปีแล้วที่ โอ๋ หรือ อังศุมาลิน บุญทา สาวเมืองกรุง บัณฑิตสาขาออกแบบพัตราภรณ์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หันหลังให้เมืองกรุง ทิ้งธุรกิจออกแบบเสื้อผ้าตามที่ร่ำเรียนมาและทิ้งธุรกิจร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ตาม พิทักษ์ บุญทา สามี กลับมายัง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา บ้านเกิด และเริ่มสร้างงาน สร้างโอกาสให้กับคนดอกคำใต้ตามความรู้ประสบการณ์ทางศิลปะ ด้วยการตั้งกลุ่มงานหัตถกรรมเพื่อการส่งออกเมืองดอกคำใต้ โดยมีผลิตภัณฑ์ผ้าเพนต์ลายแบรนด์ “อิ่มบุญ”

“ชาวบ้านที่เป็นชาวนามาฝึกกับเรา แม้จะต้องใช้สมาธิ แต่พอฝึกนานไปเริ่มเข้าที่ งานออกมาดีขึ้น จนทุกวันนี้ถึงเวลาทานข้าวกลางวัน ชวนมาทานข้าวก็ไม่ยอม ขอทำงานให้เสร็จก่อน ยิ่งถ้าได้เห็นงานของตัวเองได้รับการนำเสนอและมีผู้นำไปใช้ยิ่งภาคภูมิใจและดีใจมาก” โอ๋เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มชาวบ้านทำแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ด้าน พิทักษ์ บอกว่า  “อิ่มบุญ” หมายถึงงานที่ทำแล้วอิ่มใจ อิ่มกาย เป็นงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ฝืนธรรมชาติ ใช้วัสดุการย้อมผ้าจากเศษวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ เมล็ด เป็นต้น ช่วยให้ชาวนาบางส่วนในดอกคำใต้ไม่ต้องอพยพแรงงานไปนอกพื้นที่ ไม่ทิ้งครอบครัว

การตลาดของผ้าเพนต์ลายอิ่มบุญ คือ การขายผ่านสื่อออนไลน์ เพราะไม่ต้องการตั้งหน้าร้านขายแข่งกับงานหัตถกรรมเจ้าอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งงานของแบรนด์อิ่มบุญนั้นเน้นความประณีต แต่ละชิ้นใช้เวลาทำค่อนข้างนาน ราคาจึงค่อนข้างสูง การเปิดร้านจำหน่ายอาจไม่ใช่พื้นที่การขายที่เหมาะสม ดังนั้นจึงทำการตลาดผ่านกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์  www.aimbun.com และเฟซบุ๊ก ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี

แม้จะไม่ยอมตอบคำถามถึงรายได้ แต่พิทักษ์และอังศุมาลิน บอกว่า กลุ่มสมาชิกร่วม 30 คน ต่างได้รับค่าตอบแทนวันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท ซึ่งทุกคนต่างอิ่มใจ

“ชาวนายังอิ่มกายที่มาทำงานกับอิ่มบุญ เพราะมีรายได้รายวันเฉลี่ยประมาณ 300 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายชิ้นหรือรายวัน บางคนที่ทำเก่งก็ได้มากกว่านั้น ทุกวันนี้งานของอิ่มบุญถูกสั่งจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่เป็นศิลปะ บ้านเรายังไม่ค่อยมีความนิยมมากนัก ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่ สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และยุโรปบางประเทศ” โอ๋ หรืออังศุมาลิน เล่าถึงความสำเร็จอย่างพอใจ