posttoday

ความหวังใหม่รายย่อยร้องคสช.ตั้งสภาSME

23 กรกฎาคม 2557

เหตุที่ต้องจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมา ไม่มีองค์กรที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดย....วราภรณ์ เทียนเงิน

เสียงเรียกร้องของ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศกว่า 2.73 ล้านราย เรียกร้องไปยัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจัดตั้ง สภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ หรือ สภาเอสเอ็มอี เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีหัวแรงในเรื่องนี้คือ “เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (เอทีเอสเอ็มอี) ได้รวบรวมเครือข่ายสมาชิกเอสเอ็มอีในประเทศ รวมผลักดันสภาเอสเอ็มอีให้สำเร็จ

วัตถุประสงค์จัดตั้งสภาเอสเอ็มอีในครั้งนี้ “เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด” เปิดเผยว่า มี 6 วัตถุประสงค์สำคัญได้แก่ 1.เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการประสานนโนยบายและดำเนินการกับภาครัฐ 2.ประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ปกป้องสิทธิ และความยุติธรรมที่สมาชิกพึงได้รับ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีศักยภาพในการประกอบการสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจให้ก้าวหน้า

3.ศึกษา รวบรวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องในการประกอบการ 4. เป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประเภทต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

5.ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบการทั้งในด้านอุตสาหกรรม การค้าและการบริหาร นำไปสู่การกำหนดนโยบาย หรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ วิธีการปฏิบัติต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ 6. ส่งเสริมให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม การค้า และการบริหาร

สาเหตุที่ต้องจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมา ไม่มีองค์กรที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการประสานนโยบายและดำเนินส่งเสริมวิสาหกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนองค์กรภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนของเอสเอ็มอี ยังขาดความเข้มแข็งและขาดการประสานบูรณาการงานระหว่างกัน

ส่วนองค์กรที่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจที่สำคัญหลายองค์กร เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์และปกป้องสิทธิของสมาชิกในกลุ่มของตน ทำให้ปัญหาและความต้องการของเอสเอ็มอี ไม่ได้รับสะท้อนในเวทีต่างๆ อย่างถูกต้องและเพียงพอ

ทั้งนี้การมีสภาเอสเอ็มอีจะเกิดประโยชน์สำคัญ 2 ด้านได้แก่ 1.เกิดองค์กรที่เชื่อมประสานงานระหว่างเอสเอ็มอี ในภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการทั้งในระดับจุลภาคและเศรษฐกิจระดับมหภาค

2.มีตัวแทนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับ เพื่อนำไปสู่การเสนอและนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางการส่งเสริมพัฒนา และการแก้ไขปัญหาในการประกอบการของเอสเอ็มอี แก่ภาครัฐเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ

หน่วยงานรัฐที่ร่วมสนับสนุนจัดตั้งสภาเอสเอ็มอีได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยโครงสร้างของการจัดตั้งจะยึดหลักมีส่วนร่วม ให้ตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบของสภาเอสเอ็มอี มีสัดส่วนวิสาหกิจในภาคส่วนและพื้นที่ต่างๆ กลุ่มเอสเอ็มอีอย่างหลากหลาย ทั้งจากภาคผลิต การค้า และบริหาร มีการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสรับทราบข้อมูลโดยละเอียด

เป็นความหวังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของเอสเอ็มอี อยากให้จัดตั้ง “สภาเอสเอ็มอี” ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรายย่อย ที่มีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วน 80.4 ของการจ้างงานรวมของประเทศ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น สัดส่วน 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ มีมูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอี มีมูลค่าประมาณ 1.761 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ

สุดท้ายอยู่ที่ คสช. จะสร้างความฝันของเอสเอ็มอีให้สำเร็จหรือไม่