posttoday

แบรนด์ “เชลเทอร์”จากสถาปนิกสู่เจ้าของธุรกิจ

07 กรกฎาคม 2557

หนุ่มสาวทำงานสถาปนิก มัณทนากร ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำงานส่วนตัวแทน สามารถก่อกำเนิด แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก “เชลเทอร์”

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

ชีวิตหนุ่มสาวมนุษย์เงินเดือน จะต้องมีบางช่วงในชีวิตเกิดปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดคำถามกับอนาคตและการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตใหม่ ซึ่งอาจทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปตลอดกาล เหมือนกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การเกิดและล้มของธุรกิจมากมาย มีผลกับ หนุ่มสาวทำงานสถาปนิก มัณทนากร ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำงานส่วนตัวแทน สามารถก่อกำเนิด แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก “เชลเทอร์” (shelter)

“ทัศพนธ์ ธัญวงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชลเทอร์ และภรรยา “กัณฑิมา ธัญวงษ์” ดีไซเนอร์ ที่สร้างสรรค์และออกแบบเสื้อผ้า ได้เลือกสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ต่อจากการทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ที่เปิดขายเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 4 ปี จึงเปลี่ยนมาทำแบรนด์เสื้อผ้า เนื่องจากการแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์รุนแรง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว คนเรียนจบสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่นิยมออกมาทำเฟอร์นิเจอร์ โดยการทำเสื้อผ้าเด็ก เป็นช่วงเวลาที่มี ลูก และต้องการเสื้อผ้าเด็ก ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด

“เชลเทอร์” แบรนด์เสื้อผ้าเด็ก มีจุดเด่นด้านดีไซน์ โดดเด่น แตกต่างจากแบรนด์อื่น เสื้อผ้าเป็นแนวศิลปะ สวมใส่สบาย ใช้ผ้าที่นิ่ม จากการออกแบบเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์ของหนุ่มสถาปัตยกรรม ที่ทำงานสถาปนิกออกแบบอาคาร และสาวมัณฑนากร ที่ออกแบบตกแต่งภายใน กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของแบรนด์นี้ รวมถึงมีรู้สึกที่เรียกว่า ความรักมาลูกมาเป็นส่วนผสม ร่วมสร้างแบรนด์นี้ ทั้งที่ทั้งสองคนไม่มีความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้ามาก่อน

ในช่วงแรกของการทำตลาด ได้ร่วมออกไปงานแสดงสินค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และมีผู้บริหารของ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไปพบถูกใจในแบบเสื้อผ้าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงให้ฝ่ายจัดซื้อไปติดต่อแบรนด์เชลเทอร์เข้าศูนย์การค้าทันที ทำให้มีโอกาสนำแบรนด์มาขายในศูนย์การค้าเอ็มโพเรี่ยมแห่งแรก ต่อมาจึงมีลูกค้ารู้จักแบรนด์มากขึ้น และเริ่มขยายไปวางขายในห้างเดอะมอลล์ สาขาอื่นๆ และในห้างเซ็นทรัล

ความสำเร็จที่จุดกำเนิดจากความรักของลูก มาจนถึงความโชคดี ทำให้ได้เจอผู้บริหารได้เข้าห้าง ไม่ได้แค่โชคชะตาที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ทั้งสองคนมีความพร้อมในธุรกิจและทำแบรนด์เสื้อผ้าอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ก็ลงทุนซื้อจักร 4 ตัวมาตัดเย็บเสื้อผ้า และทำแบบเสื้อผ้าเด็กออกมากว่า 1,000 ชุด ทั้งที่ไม่มีร้านค้าขาย แต่ทำเพื่อเตรียมพร้อมวางขายทันที หากมีช่องทางจำหน่ายสินค้า

แผนการขยายธุรกิจในปีนี้จะเริ่มนำแบรนด์เชลเทอร์ไปทำตลาดผ่าน คอมมูมิตี้มอลล์ ทั้งใน กทม. และขยายไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยวางแผนจะเปิดชอปใหม่ปีละ 5 ชอป งบลงทุน 2 ล้านบาทต่อสาขา เชื่อมั่นตลาดเสื้อผ้าเด็ก ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะตลาดต่างจังหวัดเศรษฐกิจขยายตัวดี

พร้อมกันนี้ได้ขยายธุรกิจใหม่กับธุรกิจเสื้อผ้ากลุ่มเสื้อผ้าผู้หญิง มีรูปแบบเสื้อผ้าสไตล์ใส่แบบเรียบง่าย และสวมใส่สบาย ทั้งกางเกงยีนส์และเสื้อยืด โดยเป็นการออกแบบของ “กัณฑิมา” ดีไซเนอร์ สร้างสรรค์เสื้อผ้าผู้หญิง เพราะไม่มีเสื้อผ้าในแบบนี้ในตลาด และได้เริ่มทำตลาดมาแล้วประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา และเตรียมนำไปวางจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า ต่อไป

รวมทั้งได้ทำเปิดอีกธุรกิจใหม่ ร้านอาหาร ใช้ชื่อว่า shelter 1 acre อยู่บริเวณ 4 แยก ที่ ถ.เกษตร-นวมินทร์ ตัดกับถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ซอยประเสริฐมนูญกิจ 33 ใช้ลงทุนไปประมาณ 120 ล้านบาท พื้นที่ 4 ไร่ เปิดให้บริการมาประมาณ 3 ปี โดยในพื้นที่ดังกล่าว มีทั้ง ร้านเสื้อผ้าเด็ก เชลเทอร์ สาขาต้นแบบ (แฟลกลิฟ สโตร์) มีร้านอาหารชื่อ Mellow Café Wine & Restaurant เป็นร้านอาหารไทยรูปแบบใหม่ มีส่วนผสม เครื่องปรุง และวัตถุดิบ คุณภาพครบเครื่อง เป็นอาหารไทยสไตล์ใหม่ให้รสชาติจัดจ้าน อร่อยแบบครบทุกรส ใช้ผักปลอดสารพิษ และไม่มีการใส่ผงชูรส

ร้านอาหารเปิดทั้งกลางวัน ต่อเนื่องไปจนถึงกลางคืน รองรับการจัดงานเลี้ยง และงานแต่งงาน ที่มีลูกค้ามาของคิวจัดงานหนาแน่นในช่วงปลายปี เพราะร้านอาหารให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในสวน มีต้นไม้ล้อมรอบ รวมทั้งยังได้ทำเมนูบุฟเฟ่ห์ ในราคาพิเศษ 395 บาท มีให้เลือก 33 เมนู ทั้งอาหารไทย อาหารต่างชาติ ของหวาน และเครื่องดื่ม

พร้อมกันนี้ ยังได้ขยายธุรกิจใหม่ไปยัง ร้านขนมชื่อ hungry eatery โดยเป็นขนมเค้กและขนมต่างชาติ ที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงเช่นกัน เพื่อให้รสชาติที่ครบเครื่องของสูตรขนมต่างชาติขนานแท้ แบบไม่มีที่ไหนในประเทศไทย เพราะ “ทัศพนธ์” และ “กัณฑิมา” ร่วมคิดออกแบบ เมนูทุกอย่างทั้งหมด โดยได้ให้เชฟในร้านเป็นผู้ปรุงตามสูตรที่กำหนดไว้ สำหรับุรกิจขนมมีแผนเข้าไปในห้างสรรพสินค้า จำนวน 3 แห่งในปีนี้ ใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า  3-7 แสนบาท

เรียกได้ว่า เป็นการรุกขยายธุรกิจใหม่ในท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศปีนี้ที่ชะลอตัว แต่ “ทัศพนธ์” ให้มุมมองว่า ธุรกิจยังมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤต เพราะใช้คำว่า การโอกาสใหม่ ซึ่งที่ผ่านบริษัทก็เจอภาวะวิกฤตมาได้หลายครั้ง ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ตั้งแต่การเกิดโรคไข้หวัดนก การเปิดเหตุการเมืองรุนแรง เกิดเหตุเผา กทม. น้ำท่วม และการเมืองในปีนี้ แต่สามารถผ่านทุกสถานการณ์มาได้

สิ่งสำคัญคือ ต้องยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ และมองว่าปัญหาคือ เรื่องปกติ ทุกอย่างมีเกิดขึ้น และเดี๋ยวก็ผ่านไป ในครั้งแรกที่เกิดปัญหา ทุกคนก็อาจจะรู้สึกว่ารุนแรงมาก เพราะบริษัทไม่เคยเจอมาก่อน แต่เมื่อผ่านมาได้แล้ว ก็จะมองปัญหาเป็นเรื่องปกติ ทุกอย่างสามารถผ่านไปได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน การมีวิธีคิดที่ดี ก็สามารถทำให้เอาชนะอุปสรรค และทุกปัจจัยลบในธุรกิจมาได้ เพราะเมื่อเราคิดว่า จะเริ่มทำธุรกิจนี้ ก็ลงมือทำทันที แต่ต้องผ่านการคิดแบบละเอียดมาก่อน จึงมั่นใจที่จะทำ ผสมกับการมีความเชื่อ ศรัทธา กับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ดังนั้น ทุกคนมีศักยภาพที่จะทำได้หมด

“ผมเรียนจบมาจากสถาปัตยกรรม มาทำธุรกิจได้ ทั้งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำธุรกิจมาก่อน แต่เมื่อจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งสำคัญ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และมีลูก ก็กลายเป็นแรงผลักดันทำธุรกิจ ทำธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้า จากจักรเย็บผ้า 4 ตัว และไม่มีความรู้เรื่องออกแบบก็ทำได้ ทำธุรกิจร้านอาหาร และร้านขนม ทั้งที่ไม่มีความรู้มาก่อน แต่ทุกอย่างก็เรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด”ทัศพนธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้อยากแนะนำเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญหลายปัจจัยลบทางธุรกิจในปีนี้ ควรปรับตัวด้วยการ ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร และเพิ่มรายได้ในส่วนอื่น รวมถึงควบคุมต้นทุนวัตถุดิบให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ต่อไป พร้อมกับยึดแนวคิดที่ว่า ต้องทำงานให้มีความสุข รวมถึงพนักงานในบริษัททุกคนด้วย เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกดีที่ได้ทำงานในทุกวัน เต็มไปด้วยพลังแห่งความสุข

มองระยะยาวของธุรกิจ วางเป้าหมายให้องค์กรเติบโตแบบยั่งยืน  และให้พนักงานขององค์กรที่มีมากกว่า 200 คน สามารถอยู่กับบริษัทให้มีความสุขใจเช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปีนี้ บริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 170 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน

ทัศพนธ์ ทิ้งท้ายว่า จากการชอบดีไซน์ คิดออกแบบทุกอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายผลักดันให้เกิดธุรกิจเล็กๆ กลายเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ได้

แบรนด์ “เชลเทอร์”จากสถาปนิกสู่เจ้าของธุรกิจ