posttoday

เอสเอ็มอี76%เจอผลกระทบการเมืองยอดขายหด

24 เมษายน 2557

สสว.เผยผลสำรวจ เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากการเมือง เดือน มี.ค. 76% ทั้งยอดขายหด 42% ลูกค้าลด ขอภาครัฐช่วยเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

สสว.เผยผลสำรวจ เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากการเมือง เดือน มี.ค. 76% ทั้งยอดขายหด 42% ลูกค้าลด ขอภาครัฐช่วยเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองต่อกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มภาคการผลิต การค้า และการบริการทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร รวม 500 ราย ได้รับผลกระทบจากการเมืองในสัดส่วน 76% ทำให้ยอดขายลดลง และมีจำนวนลูกค้าลดลงตามไปด้วย โดยภาพรวมมีรายได้เฉลี่ยลดลง 42%

ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยในเดือน มี.ค.ที่ลดลงดังกล่าว ถือว่าดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ.นั้น มีรายได้เฉลี่ย ลดลง 50% โดยกลุ่มธุรกิจที่ดีขึ้นคือ ภาคการผลิต และเอสเอ็มอีที่มีการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท และธุรกิจรายย่อย ที่มีรายได้เฉลี่ย ลดลง 44% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-ก.พ. รายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลง 51% ส่วนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัว ขณะที่ระดับความรุนแรงของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้รับผลมากสุด สัดส่วน 42% ปานกลาง 25% และได้รับผลกระทบน้อย 22%

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรนั้น จะได้รับผลกระทบจากากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ 50% และมีจำนวนลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาซื้อสินค้าลดลง 70% รวมทั้งมีประชาชนเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การค้าส่งภายในประเทศ และการค้าปลีก ลดลง 50% และกำลังซื้อของลูกค้าลดลง 40%

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนั้น จะมุ่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมากที่สุด เพื่อกระตุ้นยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยมุ่งขายสินค้าที่ได้กำไรสูง เพิ่มชนิดของสินค้า ลงทุนด้านโฆษณาและส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับกระบวนการทำงาน

“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยเหลือมากสุดคือ ต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำ รองลงมา คือ การจัดหาตลาดและการประชาสัมพันธ์ มาตรการด้านภาษี การอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและการอบรมความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ”นายปฎิมา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสำรวจในครั้งนี้พบว่า สถานการณ์โดยรวมของเอสเอ็มอีเดือน มี.ค. เริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. และ ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเป็นผลมาจากการยุบเวทีชุมนุมในหลายๆ จุด และการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ประกอบการประมาณ 54% ได้มีการเตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อไว้แล้ว

“ระดับความรุนแรงของเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในเดือน มี.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ. พบว่า เดือน มี.ค. มีกลุ่มได้รับผลกระทบมาก 42% ปานกลาง 22% และน้อย 12% ซึ่งลดลงจากเดือน ก.พ. ที่ได้รับผลกระทบมาก 56% ปานกลาง 25% และน้อย 4% ถือว่าสถานการณ์เอสเอ็มอีทุกกลุ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และมีเอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น สัดส่วน 24%”นายปฎิมา กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทั้งมาตรการด้านการเงิน การตลาด และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ