posttoday

ธุรกิจแห่ใช้ออนไลน์ ช่องทางหนีภัยการเมือง

27 มกราคม 2557

ธุรกิจเว็บไซต์ ชี้สินค้ารายย่อยแห่พึ่งสื่อออนไลน์ หวังสร้างการตลาดต่อเนื่องรักษาฐานลูกค้า หนีม็อบชัตดาวน์ฯ

โดย...ทีมข่าวเอสเอ็มอี

ยามมีภัยการเมืองเข้ามากระทบธุรกิจ ช่องทางหนึ่งที่จะเติบโตสูง คือ ออนไลน์ เครื่องมือที่เข้าถึงผู้คนได้โดยไม่ต้องเดินทางและตามติดผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง

ศิริพร เภกะสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิกเซล อินเตอร์แอคทีฟ ผู้ดำเนินธุรกิจสร้างเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น กล่าวว่า จากสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ 7 จุดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ หรือการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจหรือเจ้าของสินค้าต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หันมาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับบริษัท

ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ารายเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ติดต่อเข้ามาจ้างงานค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีจนถึงขณะนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการขยายการรับงาน ประกอบกับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และทำให้ลูกค้าหันมาทำตลาด หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหรือช่องทางออนไลน์มากขึ้นที่เติบโตเกือบ 100% เพื่อลดค่าใช้จ่าย

“มีหลายสินค้าบริการที่อาจได้รับผลกระทบจากทั้งเศรษฐกิจและการเดินทาง ก็หันมาทำสื่อออนไลน์ มากขึ้น ด้วยลงทุนน้อยกว่าสื่ออื่น แต่ลูกค้าเห็นได้  24 ชั่วโมงทั่วโลก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบด้านรายไดัมากนัก แต่จะกระทบด้านการเดินทางที่ไปพบลูกค้าลำบากขึ้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม” ศิริพร กล่าว

ขณะเดียวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าจากกระแสการตื่นตัวสื่อออนไลน์ที่ขยายตัวมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปและเจ้าของธุรกิจรายย่อยประเภทต่างๆ ทั้งสินค้าบริการ ค้าปลีก เบ็ดเตล็ด แฟชั่น ฯลฯ ที่เริ่มหันมา ลงทุนพัฒนาธุรกิจผ่านสื่อเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีมากขึ้น

ธุรกิจแห่ใช้ออนไลน์ ช่องทางหนีภัยการเมือง

ด้าน ธวิทย์ เรืองรองปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มอี ชิปปิ้ง ผู้ให้บริการส่งสินค้าไปต่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย กล่าวว่า ช่องทางค้าขายผ่านออนไลน์ระหว่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ขณะเดียวกัน มีผู้ประกอบการหลายรายอาศัยช่องทางนี้ในการติดต่อซื้อขายสินค้า รวมทั้งสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิต โดยไม่ต้องเดินทางไปหน้าร้าน ทำให้ไม่มีปัญหาแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การชุมนุมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ช่องทางอีคอมเมิร์ซหรือออนไลน์ แม้จะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ แต่ในประเทศไทย อัตราการเติบโตเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้ขายและทำตลาดสินค้าผ่านออนไลน์ยังเข้าไม่ถึงผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มโอท็อป เอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ซึ่งมีสินค้าที่ลูกค้า โดยเฉพาะต่างประเทศนิยม เช่น ของขวัญ ของฝาก และของแต่งบ้าน งานหัตถกรรมฝีมือ ที่แสดงถึงความเป็นไทย

“ในปีนี้บริษัทจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้า โดยจัดการอบรม สัมมนาให้ความรู้ เพื่อพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เติบโตและได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรายย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศ” ธวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากศูนย์ข้อมูลสถาบันวิจัยอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโอกาสทางธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในตลาดโลกอยู่บนออนไลน์โดยเฉพาะในอีเบย์ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่วางจำหน่ายในอีเบย์มีมากกว่า 5 หมื่นชิ้น ซึ่งทุกนาทีจะขายได้เฉลี่ย 3 ชิ้น

สำหรับตลาดสินค้าอีเบย์จากทั่วโลกมีมูลค่าการซื้อขายต่อปีมากกว่า 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นประเทศที่ขายสินค้าผ่านอีเบย์สูงเป็นอันดับ 4  ของเอเชีย รองจากจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น

นี่คือโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ที่แม้จะมีวิกฤต เป็นตัวผลักดัน แต่ผู้ประกอบการก็อย่ามองข้ามเป็นอันขาด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องเลือกใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รับมือการแข่งขันโลกยุคใหม่