posttoday

แนะเอสเอ็มอีตั้งรับ5ปัจจัยลบ

27 มกราคม 2557

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผย เอสเอ็มอีเสี่ยงปิดกิจการ 2 แสนราย เผย 5 ปัจจัยลบกระทบธุรกิจปีม้า สภาพคล่องเสี่ยงสูง ธุรกิจหดตัวแรง

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผย เอสเอ็มอีเสี่ยงปิดกิจการ 2 แสนราย เผย 5 ปัจจัยลบกระทบธุรกิจปีม้า สภาพคล่องเสี่ยงสูง ธุรกิจหดตัวแรง

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ในปี 2557 ภาคธุรกิจขนาด กลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญทั้งเรื่อง 1.ต้นทุนการทำธุรกิจอยู่ในระดับสูง 2.เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว 3.กำลังซื้อที่ลดลง  4.สภาพคล่องทางธุรกิจที่ลดลง และ 5.สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป

ขณะเดียวกันปัจจัยบวกของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลดีให้ผู้ผลิตสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต้องเร่งหาลูกค้าใหม่เพื่อส่งออกสินค้าในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอี ในปีนี้ จะอยู่ในระดับ 33.5% เติบโตในระดับที่ต่ำต่อเนื่องมาประมาณ 5 ปีแล้ว แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มีการขยายตัวของจีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ระดับ 2.5% ขณะเดียวกันภาพรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังมี ความเสี่ยงที่อาจต้องปิดกิจการราว 2แสนราย ใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะมีหลายปัจจัยลบกระทบต่อการประกอบธุรกิจจากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีในประเทศประมาณ 2.7 ล้านราย

สำหรับปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจของเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับต่ำนั้น จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้เจ้าของสินค้าขายสินค้าได้ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นเอสเอ็มอีต้องมุ่งบริหารความเสี่ยงภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดและเน้นขายสินค้าที่ขายดี ส่วนสินค้าที่ขายได้ลดลงควรหยุดผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งการขายสินค้าที่หมุนเร็วจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องของธุรกิจที่ดีขึ้น

“ตอนนี้ที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจไม่โตและทำธุรกิจเหมือนเดิมต่อไป แต่ไม่ถึงขั้นปิดกิจการ เพราะกลุ่มนี้มีขนาดธุรกิจเท่าเดิมและไม่ได้มุ่งพัฒนาธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้หันมาปรับธุรกิจใหม่” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

นอกจากนี้ ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีอยู่ที่การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแหล่งสินเชื่อได้ แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี แต่พบว่ามีผู้ประกอบการเข้าไปร่วมโครงการในระดับที่น้อย ดังนั้นภาครัฐควรเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวว่าสาเหตุใดที่เอสเอ็มอีไม่สนใจโครงการ เพื่อทำให้การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้ประกอบการรายย่อยดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

“เชื่อว่าเศรษฐกิจมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นเอสเอ็มอีต้องประคองธุรกิจให้สามารถผ่านครึ่งปีแรกไปได้ หากผ่านไปได้เชื่อว่าในครึ่งปีหลังธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายเกียรติอนันต์ กล่าว