posttoday

เส้นทาง"เมอริโต้"ธุรกิจเกษตรอินทรีย์

07 มกราคม 2557

สิ่งที่ยากของเกษตรอินทรีย์ คือ ทำให้ผู้บริโภคยอมรับ เพราะหน้าตาไม่สวยแถมราคาแพง แต่ผลผลิตล้วนมาจากธรรมชาติทั้งิส้น

สิ่งที่ยากของเกษตรอินทรีย์ คือ ทำให้ผู้บริโภคยอมรับ เพราะหน้าตาไม่สวยแถมราคาแพง แต่ผลผลิตล้วนมาจากธรรมชาติทั้งิส้น

“มีคนเคยเขียนแค่ลองเปิดใจ อาจจะได้พบชีวิตอีกด้านหนึ่ง...” นี่เป็นเพลงเปิดตัวกะทิออร์แกนิก ภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” ของ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท (Merit Food Products Co., Ltd.) ที่เปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา

เส้นทางของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกหรือวิถีแบบเกษตรอินทรีย์ที่เลือกวิธีธรรมชาติในการปลูกผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี แม้วิธีการผลิตจะไม่ยาก สิ่งที่ยากคือการทำให้ผู้บริโภคยอมรับในผลิตภัณฑ์ต่างหาก เพราะผลผลิตเกษตรอินทรีย์ นอกจากหน้าตาจะไม่สวยเหมือนผลผลิตที่ใช้สารเคมีแล้ว ยังมีราคาแพงกว่าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พีรโชติ จรัญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท ได้เลือกเดินในเส้นทางของเกษตรอินทรีย์ และมีเป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” ออกสู่ตลาด เริ่มด้วยผลิตภัณฑ์กะทิออร์แกนิก ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว

“ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เราจำเป็นต้องทิ้งไร่มะพร้าวกว่า 2,000 ไร่ ที่ จ.จันทบุรี เนื่องจากขาดเงินทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีมาดูแลรักษา ซ้ำด้วยปรากฏการณ์เอลนินโญ ทำให้ดินแห้งแล้งเหมือนคอนกรีต แต่พอไม่ใช้สารเคมีทำให้แมลงต่างๆ กลับมา ซึ่งบางประเภทมาช่วยฟื้นฟูให้ต้นไม้กลับมาดีเหมือนเดิม นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินในเส้นทางเกษตรอินทรีย์” พีรโชติ กล่าว

หลังจากวิกฤตคราวนั้น พีรโชติ จึงตัดสินใจศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง พร้อมกับพลิกฟื้นไร่มะพร้าวออร์แกนิกขึ้นมาใหม่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน “เมอริโต้” มีความเป็นเกษตรอินทรีย์แท้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ทั้งทางการเกษตร (Producing) การแปรรูปทางอุตสาหกรรม (Processing) ตราบจนถึงมือผู้บริโภค จนได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจาก 8 ประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บางประเทศในยุโรป และเอเชีย

ขณะนี้ 1 ใน 3 ของรายได้รวมกว่า 600 ล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์กะทิออร์แกนิก ซึ่งมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ส่วนภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” คาดว่าในปี 2557 นี้ จะสร้างรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท และมีแผนขยายผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำมันมะพร้าว มะพร้าวอบแห้ง หรือแป้งมะพร้าว เป็นต้น ส่วนระยะยาวต้องการให้แบรนด์เมอริโต้เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์คู่ครัวไทย โดยจะพัฒนาผลผลิตอื่นๆ รอบแปลงปลูกมะพร้าว เช่น พืชสวนครัวและเครื่องแกง เป็นต้น

พีรโชติ กล่าวว่า ด้วยความที่ฟาร์มออร์แกนิกต้องอาศัยความอดทนในการดูแลรักษาผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ทำให้แต่ละปีมีพื้นที่เพาะปลูกที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประมาณ 4% เท่านั้น บริษัทจึงเข้าร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่ดำเนินโครงการเปลี่ยนแปลงเพาะปลูกแบบเดิมให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์
ขณะเดียวกันสำหรับแปลงเพาะปลูกที่มีได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นแทนที่จะปลูกพืชอย่างใด อย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของผู้ทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ คือ วัตถุดิบมีไม่เพียงพอที่จะขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เป็นเพียงผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและเล็กเท่านั้น ดังนั้น แม้ในแง่ปริมาณไทยจะยังแข่งขันกับบางประเทศไม่ได้ แต่ไทยยังได้เปรียบประเทศคู่แข่ง ในแง่คุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบของอาหารหรือเครื่องแกงต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทจะขยายต่อไปในอนาคต

“เรามุ่งหวังจะให้ ‘เมอริโต้’ เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกคู่ครัวไทย ซึ่งนอกจากกะทิออร์แกนิกแล้ว เรายังวางแผนที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกอื่นๆ ให้กับผู้บริโภคอีกมากมาย โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/MeritOrganic” พีรโชติ กล่าวทิ้งท้าย