posttoday

"อรรชกา สีบุญเรือง"ภารกิจยกระดับเอสเอ็มอี

20 ธันวาคม 2556

เปิดใจ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคนใหม่ กับภารกิจในการนำผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปรุกตลาดอาเซียน

เปิดใจ  อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคนใหม่ กับภารกิจในการนำผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปรุกตลาดอาเซียน

โพสต์ทูเดย์ สัมภาษณ์เปิดใจ “อรรชกา สีบุญเรือง” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคนใหม่ กับภารกิจในการนำผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปรุกตลาดอาเซียน และประกาศเป้าหมายนำพาเอสเอ็มอีไทย ก้าวไปสู่บริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาคการผลิต มีมากกว่า 5 แสนราย โดยจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งพัฒนาภาคการผลิต แรงงาน และโรงงาน ให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาท้าทายของภาคการผลิตต่อไปคือ ต้นทุนค่าแรง ที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิต เนื่องจากค่าแรงไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หากไม่มุ่งลดต้นทุน และใช้เทคโนโลยีจะแข่งขันได้ลำบาก

ขณะเดียวกัน ภารกิจสำคัญอีกด้านคือ การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ ที่เป็นอนาคตของประเทศ เข้ามาทำธุรกิจด้านภาคการผลิตมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะสนใจทำธุรกิจภาคการค้า และการบริการ แต่ภาคการผลิตมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสูงมาก ท้ายที่สุด การมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภาคการผลิต จะส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้น และอุตสาหกรรมก้าวหน้ามากขึ้น

ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ในกลุ่มภาคการผลิต ประมาณ 3,000-4,000 ราย ส่วนการปิดกิจการนั้นยังไม่มีการแจ้งข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีการปิดกิจการเท่าไหร่ ส่วนจำนวนเอสเอ็มอีทั่วประเทศ มี 2.6 ล้านราย มีการจดทะเบียนใหม่จำนวน 2 หมื่นราย และในจำนวนดังกล่าวมีการเลิกทำธุรกิจต่อปีประมาณ 1 หมื่นราย
ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิต กรมได้รับงบประมาณในปี 2557 มากกว่า 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2556 ซึ่งจะมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่า ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมออกไปทำธุรกิจและทำตลาดในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุน ยกระดับเทคโนโลยี ให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น และพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถสูงขึ้น

"คาดว่าจะมีผู้ประกอบการไทยจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมทำโครงการ ประมาณ 1.6 หมื่นคน และพัฒนาวิสาหกิจได้จำนวน 3,845 กิจการ" อรรชการะบุ

ทั้งนี้ แนวทางส่งเสริมแบ่งรายกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น อุตสาหกรรมแฟชั่นเตรียมใช้งบ 160 ล้านบาท เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เป็น ศูนย์กลางของอาเซียน ทั้งสร้างผู้ประกอบการนักออกแบบรุ่นใหม่ 700 คน การเข้าไปพัฒนาสถานประกอบการ 225 แห่ง และพัฒนากลุ่มแรงงานกว่า 2,200 คน รวมทั้งมีเป้าหมายพัฒนา แหล่งช้อปปิ้งสำคัญของไทยทั้ง จตุจักร โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และสยาม ให้กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในซื้อสินค้ามากขึ้นและเป็นที่ทุกคนต้องไป

อุตสาหกรรมอาหาร มีแผนต่อยอดโครงการอุทยานอุตสาหกรรมอาหาร (ไทยแลนด์ ฟู้ด วัลเลย์) ที่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่การเริ่มวัตถุดิบ การผลิต และสินค้า ให้ครบวงจร มีงบประมาณ 48 ล้านบาท โดยได้เริ่มทำโครงการ อุทยานอุตสาหกรรมอาหาร ใน 3 จังหวัดนำร่องแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และประจวบคีรีขันธ์ หลังจากนี้มีแผนขยายไปในจังหวัดอื่นๆ

ขณะเดียวกัน กำลังทำโครงการ โต๊ะอาหารภูมิภาค โดยจะนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาหารไทย ไปพัฒนาและส่งเสริมเพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมในระดับชาติ โดยได้เริ่มทำโครงการ โต๊ะโคราช ที่ส่งเสริมการนำอาหารในภาคอีสาน ไปขยายตลาดในภาคอื่นๆ ของประเทศ และพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่โรงแรมระดับ 5-6 ดาว หลังจากนี้ไป จะทำโครงการ โต๊ะล้านนา และโต๊ะปักษ์ใต้ เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ส่วนการพัฒนา อุตสาหกรรมสนับสนุน ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล และภาคการผลิตต่างๆ จะมุ่งให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมโฮเทค เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลดีให้ต้นทุนลดลง และไม่ต้องใช้แรงงานในจำนวนมาก มีผลผลิตที่สุงขึ้น ภายใต้งบประมาณ 160 ล้านบาท

หากมองอนาคตต่อการเปิดเออีซี กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดในแต่ละประเทศได้ ส่วนเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าต่างๆ ก็สามารถผลิตสินค้าเข้าไปทำตลาดในอาเซียนได้เช่นกัน ดังนั้นกรมจึงมีโครงการอบรมและให้ความรู้ แนะนำแนวทางการทำตลาดใหม่แก่เอสเอ็มอีอย่างเข้มข้น

สำหรับเป้าหมายสำคัญสุดอีกด้านคือ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้ เอสเอ็มอีไทย มีสัดส่วนต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ให้ได้มากกว่า 40% ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันเอสเอ็มอีไทย มีสัดส่วนต่อ จีดีพี ประมาณ 37% ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เอสเอ็มอี มีสัดส่วนต่อ จีดีพี มากกว่า 50% เป็นเป้าหมายที่กรมวางไว้ และต้องการผลักดันให้สำเร็จ