posttoday

คาดส่งออกทยอยฟื้นตัวทั้งปีโตได้5%

27 มีนาคม 2557

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ส่งออก 2 เดือนโตเป็นบวกได้ 0.2% เป็นสัญญาณที่ดี คำสั่งซื้อทยอยกลับ คาดทั้งปีโต 5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ส่งออก 2 เดือนโตเป็นบวกได้ 0.2% เป็นสัญญาณที่ดี คำสั่งซื้อทยอยกลับ คาดทั้งปีโต 5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า มูลค่าการส่งออกเดือนก.พ. 2557 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่า 18,363 ล้านดอลลาร์ฯ ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.98 (YoY) ในเดือนม.ค.2557 โดยแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากมูลค่าส่งออกทองคำที่ขยายตัวค่อนข้างสูง (หากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกในเดือนก.พ. จะขยายตัวร้อยละ 0.3 YoY) แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในคู่ค้าสำคัญของไทย (ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน ออสเตรเลีย และจีน) ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์/อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ อัญมณี/เครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า 

ทั้งนี้ การส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเดือนก.พ. ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 สามารถประคองตัวกลับสู่แดนบวกด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.2 (YoY) ซึ่งแม้ว่าจะยังเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็บ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณบวกจากความต่อเนื่องของการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสำคัญหลายตลาด ซึ่งหากว่า พัฒนาการดังกล่าวสามารถประคองภาพและมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนข้างหน้า ก็คงจะสามารถคาดหวังถึงภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้ในระยะต่อไป

การส่งออก 2 เดือนแรกปีม้า ขยายตัวเล็กน้อย: สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว ขณะที่ สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ยังอยู่ท่ามกลางความท้าทาย 

ภาพรวมการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 ที่พลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.2 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน (ขยายตัวร้อยละ 577.5 YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี) แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ขยายตัวที่ร้อยละ 10.9 ร้อยละ 5.4 ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.9 YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี) ขณะที่ แม้การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ออสเตรเลีย จีนจะยังหดตัวลง (หดตัวที่ร้อยละ 8.0 ร้อยละ 13.9 และร้อยละ 0.8 YoY) แต่ก็ถือว่ายังสามารถรักษาระดับไว้ได้ ซึ่งทำให้อาจคาดหวังถึงพัฒนาการเชิงบวกของคำสั่งซื้อสินค้าไทยจากตลาดเหล่านี้ได้ในระยะข้างหน้า

ทิศทางกำลังซื้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในช่วง 2 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 2.8 (YoY) นำโดย รถยนต์/ส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องนุ่งห่ม และอัญมณี/เครื่องประดับ อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมเกษตร ยังคงหดตัวร้อยละ 1.2 และร้อยละ 9.8 (YoY) ตามลำดับ โดยแม้การส่งออกข้าว (มีแรงหนุนจากราคาขายที่ปรับลดลง) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มีความต้องการจากตลาดจีน) จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 26.6 YoY) แต่ก็ไม่สามารถชดเชยภาพการส่งออกยางพาราที่ยังคงหดตัวร้อยละ 12.7 (YoY) ได้ ขณะที่ สินค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนเพิ่งเริ่มคลี่คลาย และยังไม่เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นฤดูกาลผลิต เช่นเดียวกับการส่งออกไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป ที่ยังคงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งใหญ่ในตลาดโลกอย่างบราซิล

จับตาทิศทางตลาดส่งออกสำคัญ: หลายตลาดมีแนวโน้มเติบโต...หนุนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น และอาหารแปรรูป ขยายตัว

ในระยะข้างหน้า การทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์จากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อาจเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนให้ทิศทางการส่งออกในภาพรวมค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าดังนี้

- กลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกุ้ง/ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป มีโอกาสขยายตัวดีขึ้นในตลาด G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ตามกำลังซื้อที่ฟื้นตัวและการที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้มีการนำเข้าไก่สดจากไทยเมื่อเดือนธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอุปโภค ได้แก่ อัญมณี/เครื่องประดับที่ทำจากเงินและทองคำแท้ เครื่องแต่งกายสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะโทรทัศน์ และไมโครเวฟ/อุปกรณ์

สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอุปกรณ์ไฮเทคและยานยนต์ ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์/ชิ้นส่วนประเภทคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ และแผงวงจรรวมสำหรับคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการอุปกรณ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud Storage) ที่กำลังเติบโตในสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ขณะที่ เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำและแผงวงจรรวมสำหรับสมาร์ทโฟนน่าจะไปได้ดีในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ชิ้นส่วนวงจรสำหรับยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง ก็น่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน

- เศรษฐกิจจีนที่คงจะสามารถประคองการขยายตัวไปได้ น่าจะช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารและพืชพลังงาน โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น/แช่แข็งและมันสำปะหลัง ขยายตัวได้ ขณะที่ การส่งออกข้าวและยางพาราไปยังจีน อาจยังคงเผชิญโจทย์ที่ท้าทายในระยะข้างหน้าทั้งในด้านอุปสงค์และการแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม คาดว่า วงจรพิมพ์สำหรับสมาร์ทโฟนและยานยนต์ น่าจะเติบโตดีขึ้น เช่นเดียวกับชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ ด้าย/เส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ (สารประกอบเคมีภัณฑ์อนินทรีย์อุตสาหกรรม) และผลิตภัณฑ์ยาง อย่างไรก็ดี สินค้าคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ และแผงวงจรรวมสำหรับคอมพิวเตอร์ น่าจะเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

- การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าของอาเซียน น่าจะช่วยให้ทิศทางการค้าในอาเซียนภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งย่อมจะช่วยหนุนความต้องการส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และวงจรพิมพ์สำหรับสมาร์ทโฟน/ยานยนต์ จากไทยให้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าขั้นกลางกลุ่มเคมีภัณฑ์ (ปุ๋ย สีทา และสารฆ่าแมลง) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะที่ กำลังซื้อของอาเซียนที่ยังขยายตัว น่าจะช่วยเสริมให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ (รถยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์) ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางรถยนต์) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (โทรทัศน์ ตู้เย็น/ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า) ปรับตัวดีขึ้น

โดยสรุป การส่งออกของไทยในเดือนก.พ. 2557 ที่สามารถขยายตัวขึ้นได้ที่ร้อยละ 2.43 (YoY) ช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี พลิกภาพกลับสู่แดนขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.20 (YoY) โดยแม้ว่าแรงหนุนส่วนหนึ่งจะมาจากการส่งออกทองคำ แต่ทิศทางการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของสินค้าหลักในหมวดอุตสาหกรรมบางรายการ ก็นับว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ยังสามารถคาดหวังได้ถึงพัฒนาการเชิงบวกในระยะข้างหน้า โดยตลาดที่คาดหวังว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกไทยในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 3.0-7.0 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 5.0 โดยจะรอติดตามความชัดเจนของสัญญาณการฟื้นตัวในสินค้าส่งออกสำคัญหลายๆ รายการ รวมทั้งพัฒนาการเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ ความต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ G3 สถานการณ์ข้อจำกัดด้านการผลิตและราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรสำคัญ รวมทั้งความเชื่อมั่นของคู่ค้าต่างประเทศต่อการผลิต/ส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการไทยท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ต่อไปอย่างใกล้ชิด