posttoday

ภัยแล้งทำราคาสินค้าเกษตรปีนี้สูงขึ้น

27 มีนาคม 2557

ศูนย์วิจัยฯ จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง อาจกระทบธุรกิจเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาล ยาง มัน ราคาขึ้น แนะรัฐออกมาตรการบรรเทา ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

ศูนย์วิจัยฯ จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง อาจกระทบธุรกิจเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาล ยาง มัน ราคาขึ้น แนะรัฐออกมาตรการบรรเทา ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ออกบทวิเคราะห์ผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้ง โดยระบุว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยล่าสุดมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งแล้ว 30 จังหวัด โดยปกติภัยแล้งในไทยจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ 1) ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน หรือราว เดือน พ.ย. – กลางเดือน พ.ค. ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ภัยแล้งตามฤดูกาล” 2) ช่วงกลางฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. – ก.ค. ภัยแล้งในช่วงนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อสภาพภูมิอากาศโลกผิดปกติ โดยภัยแล้งในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมาก  จากข้อมูลล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยแล้งตามฤดูกาลแล้ว 30 จังหวัด

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งในระดับที่รุนแรงมากกว่าปกติ จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงต้นฤดูแล้ง (1 พ.ย. 2013) ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนราว 16 พันล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 11% ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งลดลงราว 41% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลให้พื้นที่ที่กรมชลประทานจัดสรรให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง ลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 4.5 ล้านไร่

ข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชที่ปลูกในช่วงหน้าแล้ง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่พืชชนิดอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกในช่วงหน้าแล้ง โดยกว่า 80% ของการปลูกข้าวนาปรังจะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย. ในขณะที่พืชชนิดอื่น เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเพาะปลูกในช่วงหน้าฝนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง โดยจากข้อมูลการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 5 แสนตัน หรือปรับตัวลดลงราว 5% ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง เป็นหลัก โดย อีไอซี มองว่า  ผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงไม่น่าจะช่วยพยุงราคาข้าวในตลาดที่กำลังปรับตัวลดลงได้มากนัก เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ สภาวะภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ผลผลิตพืชหลักๆ ของไทยปรับตัวลดลง ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น    กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ไทยประสบกับภาวะภัยแล้งในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญของไทยปรับตัวลดลง โดยจากข้อมูลในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี พบว่า ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปรับตัวลดลงราว 24%, 21% 6% และ 1% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในกรณีของยางพารา อีไอซี มองว่า หากเกิดภัยแล้งขึ้นในหน้าฝน ก็มีแนวโน้มที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005 เนื่องจาก ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าภาคใต้) ราว 4.3 แสนตัน หรือคิดเป็น 12% ของผลผลิตทั้งประเทศ  แตกต่างจากปี  2005 ที่มีผลผลิตยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 0.9 แสนตัน หรือราว 3% ของผลผลิตทั้งประเทศ   โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะช่วยผลักดันให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะช่วยชดเชยให้รายได้โดยรวมของเกษตรกรปรับตัวลดลงไม่มากนัก

อีไอซี มองว่า ผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำตาล ยางพารา   มันสำปะหลังและปศุสัตว์ ในขณะเดียวกันยังจะผลักดันให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลในปี 2005 พบว่า  สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าว น้ำตาล มันสำปะหลังปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง 14%, 13% และ 1% ตามลำดับ  ซึ่งหากเกิดภัยแล้งขึ้นในฤดูฝนปี 2014 ก็มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รายได้ของผู้ส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีของข้าว ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากสามารถประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อใช้ในการส่งออกได้ นอกจากนี้ อีไอซี มองว่า แม้ในปี 2005 มูลค่าการส่งออกยางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้ อาจจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005 ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจปศุสัตว์จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพด โดยผู้ประกอบการในธุรกิจไก่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดเป็นส่วนผสมการทำอาหารไก่ในสัดส่วนที่สูงราว 60% ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจหมูและเป็ด จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ในระดับต่ำราว 20-30% นอกจากนั้น ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2005 เงินเฟ้อในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) วิเคราะห์ว่า รายได้เกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ รายได้ของเกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภค  ในประเทศ อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการบริโภคของครัวเรือนในภาคเกษตร (ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ) คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการบริโภครวมทั้งประเทศ

ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ตันทุนการผลิต หากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นและผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะมีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อที่จะรักษาระดับกำไรไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก ผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียวัตถุดิบระหว่างการผลิต

ในกรณีที่ภาวะภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่เอื้อต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลน ตัวอย่างเช่น การปรับลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด จากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีสูงถึง 73% และเสียค่าธรรมเนียมพิเศษอีก 180 บาทต่อตัน ซึ่งการปรับลดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ยังเป็นการช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศให้ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก