posttoday

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

09 มีนาคม 2557

สายการบินโลว์คอสต์ ’57 แข่งขันรุนแรงขยายเส้นทางการบินช่วงชิงผู้โดยสาร ท่ามกลางปัจจัยท้าทายหลายประการ

สายการบินโลว์คอสต์ ’57 แข่งขันรุนแรงขยายเส้นทางการบินช่วงชิงผู้โดยสาร ท่ามกลางปัจจัยท้าทายหลายประการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ (Low Cost  Airline) ของไทยนับว่ามีการเติบโตเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์ที่เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลัก และรองของประเทศมีการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารจำนวนกว่า 19.13 ล้านคน จาก 135,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นผู้โดยสารที่เดินมายังท่าอากาศยานดอนเมืองกว่าร้อยละ 75 หรือคิดเป็นจำนวน 14.43 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยกว่าร้อยละ 86 ของจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมายังท่าอากาศยานดอนเมืองทั้งหมด  ทั้งนี้ เนื่องจากท่าอากาศยานดอนเมืองได้กลายมาเป็นท่าอากาศยานหลักของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยเมื่อปี 2555 โดยการเติบโตของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในปีที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ในไทยมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยผู้เล่นในตลาดได้มีการขยายจุดหมายปลายทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และไปยังประเทศเพื่อนบ้านครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีการแข่งขันทางด้านราคาโดยการจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารอย่างสม่ำเสมอ

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

ธุรกิจท่องเที่ยว การขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค และการเปิดเสรีการบินอาเซียน...โอกาสสำคัญของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ 

จากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะนี้ ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยที่ไม่ขยายตัวเท่าที่ควรนัก รวมถึงมีผลต่อเนื่องต่อมายังธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งกรณีที่รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (นับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม-23 มีนาคม 2557) ทำให้หลายประเทศประกาศแจ้งเตือนพลเมืองของตนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย จึงกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยในเดือนมกราคม 2557 ที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อจำนวนผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์ที่เป็นคนไทย ให้มีการชะลอการเดินทางในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติอีกด้วย โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารรวม (Load Factor) ของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยลดลงประมาณร้อยละ 8-10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการมีการนำกลยุทธ์โดยการจัดโปรโมชั่นด้านราคามาใช้ในการดึงดูดผู้โดยสารในช่วงเวลานี้ ดังนั้นในปี 2557 นี้ ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์น่าจะต้องเผชิญความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

อย่างไรก็ดี สำหรับ ในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยผลักดันจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศที่มีการเดินทางทางอากาศเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ที่ส่งผลให้เกิดการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจการค้า รวมถึงบรรยากาศการเปิดเสรีอาเซียนที่สายการบินโลว์คอสต์ได้มีการขยายฝูงบิน และจุดหมายปลายทางการบินไปยังประเทศอาเซียน และประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการการขยายฝูงบินของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทย โดย ณ สิ้นปี 2556 มีจำนวนฝูงบินรวม 56 ลำ เพิ่มขึ้นกว่า 19 ลำ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี 

--> การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว หนุนธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ให้เติบโต

ภาพรวมของการท่องเที่ยวในปี 2557 นี้ คาดว่ายังคงมีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจากปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเป้าหมายหลัก อาทิ ตลาดยุโรปมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยกว่า 28.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ4.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมไปถึงตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศที่มีการขยายตัวเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนครั้งของการเดินทางในประเทศของคนไทย (โดยนักท่องเที่ยวเดินทางได้มากกว่า 1 จังหวัดต่อทริป) ในปี 2557 น่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นจำนวน 178  ล้านคน-ครั้ง

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศให้ขยายตัวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของธุรกิจสายการบินที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้การเดินทางท่องเที่ยวมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ที่มีการขยายจุดหมายปลายทาง และเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปยังเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ทำให้สามารถตอบสนองการท่องเที่ยวแบบอิสระ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ  ประกอบกับผู้เล่นสายการบินโลว์คอสต์ในตลาดบางรายที่ได้ให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อด้วยเรือข้ามฟาก หรือ รถโดยสารปรับอากาศไปยังเกาะ หรือเมืองท่องเที่ยวที่ไม่มีสนามบิน อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ-เกาะพงัน, กรุงเทพฯ-เกาะพีพี, กรุงเทพฯ-พังงา เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการทำการตลาดโดยจัดทำแพคเกจร่วมกับสถาบันการเงินและโรงแรม เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมีการเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย 

--> การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) เกิดจากการขยายตัวของภาคธุรกิจจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค ก่อให้เกิดศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ สังคมไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการบริการมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างรายได้ของประชากรในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคนั้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการค้า และการลงทุนระหว่างกรุงเทพมหานครกับภูมิภาค โดยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจังหวัดหัวเมืองหลัก จังหวัดหัวเมืองรอง และจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทำให้ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์สนใจเพิ่มจุดหมายปลายทางการบินไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

--> การเปิดเสรีการบินอาเซียน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระตุ้นการเตรียมพร้อมเปิดเส้นทางการบินในอาเซียนและจีน

ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็จะหลอมรวมกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเดินทางอากาศสูงขึ้น ประเทศสมาชิกจึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกิจกรรมการคมนาคมทางอากาศของประชาคมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยได้มีการวางกรอบ การเปิดเสรีการบินอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบการตกลงพหุพาคี เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถขนส่งทางอากาศระหว่างกันโดยไม่จำกัดจำนวน ความจุ ความถี่ จากเดิมที่ต้องมีการทำความตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิการบินระหว่างกัน ส่งผลให้น่านฟ้าของแต่ละประเทศที่เคยถูกจำกัดอาณาเขตด้วยหลักอำนาจอธิปไตยสามารถเชื่อมรวมกันเป็นน่านฟ้าเสรีอาเซียน

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

โดยความคืบหน้าในทางปฏิบัติของการเปิดเสรีการบินดังกล่าว ได้มีกรอบความตกลงเพื่อเตรียมความพร้อมอันประกอบด้วย 1. ความตกลงพหุภาคีอาเซียน และ2.ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศภาคีสมาชิกจะได้มีการทยอยลงนามในพิธีสารแนบท้ายความตกลงแล้ว แต่ธุรกิจการบินอาจยังคงได้รับอุปสรรคจากกฎหมาย และกฎระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกที่มุ่งปกป้องสายการบินประจำชาติของตนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี กระแสการเปิดเสรีการบินภายในปี 2558 นี้ ก็ได้ส่งผลให้ธุรกิจการบินในอาเซียนมีความคึกคัก โดยในปี 2557 สายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยได้มีการเพิ่มจุดหมายปลายทางไปยังประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงได้มีการขยายจุดหมายปลายทางไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่เป็นคู่เจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับอาเซียน ดังจะเห็นได้จากในปี 2557 ที่มีเส้นทางการบินไปยังประเทศจีนกว่า 12 เส้นทาง ใน 11 จุดหมายปลายทาง 

--> การแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์โดยการขยายเส้นทางการบินและเปิดตัวสายการบินใหม่

การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวของไทย การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมือง(Urbanization) อย่างต่อเนื่อง และกระแสการเปิดเสรีการบินอาเซียนเพื่อต้อนรับ AEC ดังที่ได้กล่าวมานั้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์อย่างคึกคัก ทั้งนี้ สายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยได้มีการขยายจุดหมายปลายทาง และเส้นทางการบินทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากเส้นทางการบินภายในประเทศในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งบินไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศกว่า 28 เส้นทางใน 25 จุดหมายปลายทาง เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2554 ที่มีเส้นทางการบิน 20 เส้นทาง ใน 19 จุดหมายปลายทาง สำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศซึ่งเป็นการบินระหว่างไทยกับอาเซียน โดยเป็นการบินระยะสั้นตามลักษณะการให้บริการของผู้เล่นในตลาดปัจจุบัน ในไตรมาส 1 ปี 2557 นั้น พบว่า สายการบินโลว์คอสต์ที่มีฐานการบินหลักในไทยมีเส้นทางการบินไปยังประเทศอาเซียนกว่า 24 เส้นทาง ใน 16 จุดหมายปลายทาง เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2554 ที่มีเส้นทางการบิน 17 เส้นทาง ใน 12 จุดหมายปลายทาง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมการท่องเที่ยวในอาเซียนที่มีทิศทางที่ขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะประเทศ CLMV ที่รัฐบาลได้มีการเปิดประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทำให้นอกจากการเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญในอาเซียนแล้ว ยังมีการขยายเส้นทางการบินจากหัวเมืองหลักในภูมิภาคของไทยไปยังเมืองต่างๆ ในอาเซียน อาทิ เส้นทางแม่สอด-มะละแหม่ง, แม่สอด-ย่างกุ้ง อีกด้วย

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

นอกจากนี้ ได้มีการเปิดตัวสายการบินโลว์คอสต์ที่เข้ามาตั้งฐานการบินหลักในไทยกว่า 4 สายการบินระหว่างปี 2556-2557 โดยแบ่งเป็นการตั้งสายการบินโลว์คอสต์สัญชาติอินโดนีเซีย และเวียดนามรวม 2 สายการบิน ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่มีผู้เล่นหลักในตลาดเพียง 2 ราย และการตั้งสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ (Low Cost Long Haul) หรือสายการบินต้นทุนต่ำที่มีระยะทางการบินระยะกลาง (5-6 ชั่วโมง) และระยะไกล (มากกว่า 6 ชั่วโมง) ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกจำนวนกว่า 2 สายการบิน โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยให้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากที่นิยมเดินทางไปยังยุโรปเป็นการท่องเที่ยวในเอเชียแทน เนื่องจากราคาแพจเกจทัวร์อาจมีราคาที่ถูกลง อนึ่ง คาดว่าสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ ทั้ง 2 สายการบิน จะสามารถเริ่มทำการบินได้ภายในปี 2557  ซึ่งน่าจะส่งผลให้การเดินทางโดยสายการบินโลว์คอสต์ในปี 2557 นี้ มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในปี 2557 จะมีจำนวน 22.70-23.54 ล้านคน โดยขยายตัวร้อยละ 19-23 จากปี 2556 ที่มีจำนวน 19.13 ล้านคน (**ประมาณการจากการเปิดตัวของสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์เป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน 2 สายการบินในไตรมาส 4 ปี 2557) อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยยังคงต้องจับตามองปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จนกระทั่งอาจทำให้จำนวนผู้โดยสารลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในปีนี้ให้เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวกว่าปีที่ผ่านมา

โดยสรุป แม้ว่าธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์จะมียังคงมีอนาคตที่สดใส แต่ยังคงมีความท้าทายในระยะข้างหน้า อันเกิดจากการขยายตัวของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบินที่มีประสบการณ์  นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันทางด้านราคาที่สูง เนื่องจากการมีเส้นทางการบินทับที่ซ้อนกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรมีการเตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ อาทิ ความพร้อมทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบินซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝน รวมไปถึงความพร้อมทางด้านมาตรฐานความปลอดภัยอันเป็นหัวใจของธุรกิจสายการบิน เพื่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสาร

คาดผู้โดยสารบินโลว์คอสต์โตกระฉูด19-23%