posttoday

แนะรัฐอย่ากลัวเงินเฟ้อนำทุนสำรองมาใช้/ชูกลุ่มอาหาร

10 มิถุนายน 2554

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดสัมมนา THAILAND LECTURE 3rd – WISDOM for Change

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดสัมมนา THAILAND LECTURE 3rd – WISDOM for Change

โดยได้เชิญธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและมุมมองต่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งวิทยากรทั้งสองต่างก็มีแนวคิดที่เฉียบคมต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

แนะรัฐอย่ากลัวเงินเฟ้อนำทุนสำรองมาใช้/ชูกลุ่มอาหาร

เริ่มกันที่ ธนินท์ มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศไทยถือว่าดีที่สุด นับตั้งแต่ทำธุรกิจในประเทศไทยมา 47 ปี เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ด้วยการเดินหน้าเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี ทั้งกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาไว้ที่ประเทศไทย หากผู้ประกอบการต้องการส่งต่อสินค้าที่ผลิตไปที่ต่างๆ

นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยยังพุ่งขึ้นไปถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส ซึ่งหากมีการบริหารที่ดี เงินจำนวนนี้สามารถพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกมาก

“ผมมองว่ารัฐบาลไทยกลัวปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ไม่กล้าใช้เงินตรงนี้ ทั้งที่จริงๆ ควรนำเงินก้อนนี้มาลงทุนด้านต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเริ่มโลจิสติกส์ก็ดี หรือการพัฒนาในเรื่องของรายได้ประชากรก็ดี ยังมีเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ที่หากรัฐบาลไม่สามารถพัฒนาได้เอง ก็สามารถจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศมาได้” ธนินท์ กล่าว

ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันก็คือ รายได้ของเกษตรกรและข้าราชการในประเทศไทยที่ต่ำเกินไป ทำให้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาสินค้ามาก และทำให้เกิดการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด อันที่จริงจะต้องเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและข้าราชการตามความเหมาะสม ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาสินค้า

ด้านสมคิดบอกว่า ประเทศไทยในปัจจุบันถือว่ามีความล้าหลัง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างที่สำคัญมาเป็นเวลานาน และไม่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งแม้ประเทศไทยจะโชคดีที่เศรษฐกิจระยะสั้นไม่มีปัญหา แต่ก็เป็นผลจากการที่เอกชนร่วมลงทุนและผลักดันมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในช่วงต่อจากนี้ไปถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงต้องมองเรื่องของการกระจายรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงไปควบคู่กัน

สมคิดบอกว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องประกาศจุดยืนนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งในครั้งนี้จะไม่ใช่การปฏิรูปแนวคิดทางเศรษฐกิจ แต่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก รัฐบาลจะต้องกำหนดแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารหรือพลังงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องไปพิจารณาในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงการลงทุนในสังคมเพื่อให้โอกาสประชาชนได้มีโอกาสก้าวพ้นจากความจน ซึ่งนโยบายพรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มเน้นการอัดฉีดเงินเข้าไปที่ภาคประชาชนโดยตรง ก็น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตจะหาเงินจากไหนมาหนุนนโยบายเหล่านี้

อดีต รมว.คลัง บอกว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเรื่องใหม่ๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก หากมองว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงของสถานการณ์ที่พลิกผัน ซึ่งประเทศไทยต้องการจุดยืนที่ชัดเจนในการที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต

“ตอนนี้ถ้าดูในเอเชีย ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงเรื่อยๆ จากการจัดอันดับ ขณะที่เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซียก็ทิ้งเราไปแล้ว เวียดนามก็กำลังจะทิ้งเราไป ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเราจะถูกทิ้งให้อยู่กับลาวพม่า ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้จริงๆ” นายสมคิด เตือน

ฟังแนวคิดในการพัฒนาประเทศที่ต้องการความชัดเจนแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงมีการบ้านรออยู่อีกเพียบ!!!