posttoday

เอกชนให้ปตท.15วันแก้NGVขาดแคลน

26 พฤษภาคม 2554

ผู้ประกอบการขนส่งขีดเส้น15วันให้ ปตท.เร่งรัดจัดการปัญหาเอ็นจีวีขาดแคลนจาก3แนวทางที่พลังงานเสนอ

ผู้ประกอบการขนส่งขีดเส้น15วันให้ ปตท.เร่งรัดจัดการปัญหาเอ็นจีวีขาดแคลนจาก3แนวทางที่พลังงานเสนอ

นายยู  เจียรยืนยงพงศ์  ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้การบริการเอ็นจีวีว่า ที่ประชุมมีมติให้บริษัทปตท.ไปเร่งดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี)ให้เพียงพอกับความต้องการ  ซึ่งผู้ประกอบการจะให้เวลา 15 วันกับการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณเอ็นจีวีป้อนไปยังปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซในภาค่ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 3 แนวทางที่จะนำมาบรรเทาปัญหาทีเกิดขึ้น ประกอบไปด้วย 1. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานไปตรวจสอบแหล่งผลิตก๊าซในประเทศ เช่น ลานกระบือ และน้ำพอง มีกำลังการผลิตแค่ไหนและจะเพิ่มปริมาณได้อย่างไร 2. ให้ปตท.ไปเจรจากับผู้ประกอบการในการเก็บค่าขนส่งเอ็นจีวีเพิ่มในกรณีอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอยู่นอกแนวท่อก๊าซฯและ3.เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เพื่อเพิ่มอัตราการชดเชยราคาเอ็นจีวีให้กับปตท.จากเดิมที่ชดเชยอยู่ 2 บาท/ก.ก.

ด้านนายอภิชาต ไพรรุ่งเรือง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสานกล่าวว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการขนส่งทางภาคอีสานได้รับความเดือนร้อนมากจากความล่าช้าในการจัดหาเอ็นจีวี จนถึงขณะนี้ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลกระทบต่อรถบรรทุก รถโดยสาร รวมถึงรถแท็กซี่ต้องรอคิวนาน 8-10 ชั่วโมงดังนั้นได้เสนอให้ปตท.เร่งแก้ไขเฉพาะหน้าเรื่องการขาดแคลนด่วนภายใน 15 วันนับจากวันนี้ หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อาจจะนำรถบรรทุกมาประท้วงที่ปตท.

“ปัญหาตอนนี้คือเอ็นจีวีไม่พอกับการใช้  ต้องรอคิวนาน ทั้งๆที่ปตท.มีเอ็นจีวีอยู่แล้วแต่จำกัดปริมาณไว้ เพื่อหวังจะใช้พวกเราเป็นเครื่องมือในการปรับขึ้นราคา   ซึ่งหากจะปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีเอกชนไม่มีปัญหา ขอเพียงให้มีก๊าซฯเพียงพอโดย ปัจจุบันภาคอีสานต้องการใช้เอ็นจวีอยู่ประมาณ 700 ตัน แต่ปตท.ป้อนให้แค่ 400 ตัน”นายอภิชาตกล่าว

ด้านนายเติมชัย  บุนนาค   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ บริษัทปตท. กล่าวว่า ยอมรับระบบเอ็นจีวีตอนนี้ตึงตัวเพราะปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้นการผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้เอ็นจีวีต่อไปจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการหารือครั้งนี้ทางผู้ประกอบการขนส่งเองยินดีที่จะจ่ายราคาเอ็นจีวีเพิ่มถ้าสามารถบริหารจัดการไม่ให้ปริมาณก๊าซเอ็นจีวีตึงตัวได้  โดยที่ผ่านมาปตท.ขาดทุนสะสมกับการตรึงราคาเอ็นจีวี 2.7 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมภาระที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อีกเกือบหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามการขนส่งเอ็นจีวีในต่างจังหวัดมีต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)กำหนดให้ตรึงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาท/ก.ก. แต่จะเพิ่มค่าขนส่งได้ตามระยะทางเพราะที่ผ่านมากำหนดเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไว้ที่ 10.34 บาท/ก.ก.เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็รับว่าจะไปพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้ว่าต้องชดเชยราคาได้แค่ไหน