posttoday

สึนามิสะเทือนไทยเล็กน้อย

14 มีนาคม 2554

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เหตุสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นกระทบเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 0.1จีดีพี สินค้าส่งออกชะงักชั่วคราว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เหตุสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นกระทบเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 0.1จีดีพี สินค้าส่งออกชะงักชั่วคราว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิในญี่ปุ่น กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขอบเขตจำกัด เนื่องจากอาจมีผลบวกเข้ามาชดเชยกัน โดยผลกระทบไม่น่าจะเกินร้อยละ 0.1 ของจีดีพีของไทย ซึ่งอาจไม่มีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้
         
เหตุการณ์ดัวกล่าวอาจกระทบต่อการค้าของไทยในระยะสั้น ทำให้การส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาหยุดชะงักชั่วคราว จากการปิดทำการท่าเรือและสนามบินบางส่วน ขณะที่ท่าเรือและสนามบินหลักไม่ได้รับผลกระทบ โดยท่าเรือหลักของญี่ปุ่น เช่น ชิบะ นาโกย่า โยโกฮามา โตเกียว โอซาก้า และโกเบ ล้วนแต่ไม่ได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับสนามบินนานาชาติส่วนใหญ่
         
สำหรับผู้ส่งออกไทย เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลูกค้าที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัยอาจมีคำสั่งซื้อลดลง ขณะเดียวกัน โรงงานในไทยที่ต้องอาศัยชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น อาจมีความล่าช้าของการขนส่งสินค้าและกระทบต่อสายการผลิต
         
อย่างไรก็ดี ถ้าสถานการณ์เป็นเพียงช่วงสั้น คาดว่าธุรกิจน่าจะมีสต็อกในระดับหนึ่งและผลกระทบต่อการผลิตในไทยคงไม่ยืดเยื้อ
         
แต่หากมองระยะยาว ความต้องการสินค้าบางชนิดจากไทยอาจเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มวัสดุ เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่น่าจะมีความต้องการใช้ในงานก่อสร้างและบูรณะฟื้นฟูความเสียหาย นอกจากนี้ สินค้าเครื่องจักรกลก็อาจเป็นอีกกลุ่มที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลิฟท์ บันไดเลื่อน ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกกลับไปยังญี่ปุ่นอยู่แล้ว ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 10 ของการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น
         
สำหรับสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบในช่วงระยะแรก แต่ภาพรวมทั้งปีอาจไม่เปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มยานยนต์และกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะลูกค้าในญี่ปุ่นอาจชะลอการสั่งซื้อไปบ้าง โดยสินค้าหมวดยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ 2 กลุ่มแรกที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 37 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยที่ไปยังญี่ปุ่น
         
อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์ในปีนี้น่าจะยังขยายตัวสูง ตามส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีการโยกย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย นอกจากนี้ หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายอาจมีความต้องการสินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เพื่อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย ผลโดยรวมจึงอาจไม่เปลี่ยนแปลงภาพแนวโน้มการส่งออกในปีนี้มากนัก
         
ขณะที่สินค้าที่ความต้องการน่าจะยังคงมีอยู่ ได้แก่หมวดอาหาร ซึ่งสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น ผลิตภัณฑ์ไก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อาจได้รับผลกระทบในช่วงที่ระบบการขนส่งสินค้ายังมีปัญหา แต่เนื่องจากพื้นที่ Tohoku เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร เช่น ข้าว เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญ หากความเสียหายต่อภาคเกษตรมีความรุนแรง อาจทำให้มีความต้องการนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น
         
สินค้าที่อาจมีความต้องการใช้ลดลง เช่น ยางพารา เนื่องจากปริมาณการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นที่โรงงานบางส่วนอาจต้องชะลอการผลิตออกไป ในส่วนผลกระทบต่อการลงทุนนั้น ไม่น่าจะส่งผลในทางลบต่อแผนการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไทย โดยการลงทุนโดยตรง หรือ FDI (Foreign Direct Investment) จากญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกัน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้อาจมีผลให้บริษัทญี่ปุ่นต้องตระหนักถึงการเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกำหนดเป้าหมายการลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยไทยก็อาจเป็นเป้าหมายหนึ่งในการเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน
         
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 53 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มูลค่า 104,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด
         
ขณะที่ผลต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ค่อนข้างสะเทือนความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และอาจมีผลต่อการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในไทยได้ ทั้งนี้ ในปี 53 มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 984,688 คน ลดลง 2% สวนทางกับภาพรวมในตลาดอื่นๆ เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในไทย และเพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นปีนี้
         
สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้น ตลาดหุ้นและค่าเงินเยนอาจเผชิญแรงเทขายในระยะสั้นรับข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงนี้ อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบในปี 38 ทำให้คาดว่าเงินเยนอาจจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า ตามแรงหนุนของการส่งเงินกลับประเทศของบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อบูรณะความเสียหาย ขณะที่ บริษัทในภาคการเงินก็อาจมีการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศเพื่อระดมสภาพคล่องด้วยเช่นกัน
         
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาทนั้น อาจถูกกดดันในบางช่วงเวลา หากบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในไทยต้องทำการส่งกลับกำไรให้บริษัทแม่ในญี่ปุ่นในขนาดที่มากกว่าระดับปกติ อย่างไรก็ดี ผลกระทบในท้ายที่สุด คงต้องติดตามดูมาตรการทางด้านสภาพคล่องและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของธนาคารกลางและทางการญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางของตลาดการเงินของโลกในระยะข้างหน้า     
         
อย่างไรก็ดี พัฒนาการของการควบคุมปัญหาในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจนถึงขั้นอันตราย ผลกระทบอาจจะรุนแรงเพิ่มขึ้นทวีคูณ