posttoday

ตุ้นทุนพุ่ง!ธุรกิจอาหารจุก

08 มีนาคม 2554

ธุรกิจอาหารโอดต้นทุนพุ่ง ดังกิ้น กัดฟันคุมค่าใช้จ่ายตรึงราคา 3 เดือน โออิชิสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า เล็งขยายสาขาเพิ่มรับธุรกิจขยายตัว

ธุรกิจอาหารโอดต้นทุนพุ่ง ดังกิ้น กัดฟันคุมค่าใช้จ่ายตรึงราคา 3 เดือน โออิชิสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า เล็งขยายสาขาเพิ่มรับธุรกิจขยายตัว

นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลด์เด้นโดนัท (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจร้าน “ดังกิ้น โดนัท” กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบเกือบทุกชนิดปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 10% เฉพาะน้ำตาล และกาแฟ ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 30% ขณะที่น้ำมันปาล์มขาดตลาด ทำให้บริษัทต้องหันมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทน และใช้น้ำมันผสมเนยในบางครั้ง เพื่อลดต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการการสั่งซื้อวัตถุดิบดังกล่าวล่วงหน้าประมาณ 1 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีแผนปรับราคาโดนัท  และกาแฟ ในช่วง 3 เดือนจากนี้ โดยจะพิจารณาอีกครั้งช่วงกลางปีเป็นต้นไป 

ปัจจุบัน หากเปรียบเทียบราคากับแบรนด์ดังในตลาดอย่างสตาร์บัคส์ กาแฟของดังกิ้น โดนัทมีราคาถูกกว่า 25-30% โดยราคากาแฟร้อนเริ่มต้น 45 บาท กาแฟเย็นราคาเฉลี่ย 55-70 บาท และเมนู “โอเลี้ยง” ระดับราคาเริ่มต้น 30 บาท

สำหรับปีนี้ ดังกิ้น โดนัท มีแผนขยายสาขาเพิ่ม 20 แห่ง จากปัจจุบันมี 200 สาขา พร้อมดำเนินแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อผลักดันยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีที่ผ่านมาเติบโต 15% ซึ่งธุรกิจของดังกิ้น โดนัทในประเทศไทยถือเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจของดังกิ้น โดนัทในหลายประเทศ โดยปีนี้บริษัทแม่เลือกไทยเป็นที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและนำต้นแบบดังกล่าวข้างต้นไปปรับใช้กับประเทศอื่นต่อไป

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องกังวลในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในปีนี้คือการขาดแคลนและวัตถุดิบมีราคาสูง ซึ่งเป็นผลจากภัยธรรมชาติ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างน้ำมันปาล์ม ผู้ประกอบการต้องลดความเสี่ยงด้วยการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า

“สำหรับโออิชิ ค่อนข้างโชคดี เพราะน้ำมันปาล์มไม่ใช่วัตถุดิบหลัก ส่วนใหญ่เป็นปลาแซลมอน ข้าว ซึ่งแนวโน้มราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่มีวัตถุดิบตัวอื่นที่ต้องระมัดระวัง หากเห็นแนวโน้มราคาเพิ่มสูงต้องซื้อล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยง” นายไพศาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นถือเป็นธุรกิจที่เติบโต ปีที่ผ่านมามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ขณะที่โออิชิคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 25% หรือมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 4,100 ล้านบาท ขยายตัว 24% จากปีก่อนหน้า

สำหรับปีนี้ มีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 30 แห่ง จากปัจจุบันมี 113 สาขา โดยใช้งบลงทุนราว 300 ล้านบาท ขณะที่มุ่งทำการตลาดอย่างครบวงจรทั้งสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ รวมทั้งจัดกิจกรรมโปรโมชั่นต่อเนื่องตลอดปี โดยใช้งบลงทุนอีก 200 ล้านบาท