posttoday

เอกชนวอนรัฐทบทวนลอยตัวแอลพีจีภาคอุตฯ

22 กุมภาพันธ์ 2554

เอกชนเตรียมส่งหนังสือถึงนายกฯ พิจารณาการปรับราคาแอลพีจีภาคอุตฯ ร้องช่วยดูแลอุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก เพราะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบมากที่สุด

เอกชนเตรียมส่งหนังสือถึงนายกฯ พิจารณาการปรับราคาแอลพีจีภาคอุตฯ ร้องช่วยดูแลอุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก เพราะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบมากที่สุด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะทำหนังสือยื่นต่อนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พิจารณาเรื่องการปรับลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคอุตสาหกรรม โดยต้องการให้คิดถึงอุตสาหกรรมเซรามิก และแก้วกระจก ที่ส่วนใหญ่ใช้แอลพีจี จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการให้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต และเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการมาดูแลผู้ประกอบการ โดยหาพลังงานทดแทนชนิดอื่นที่มีราคาเท่ากันมาให้ผู้ประกอบการใช้ หรือมีมาตรการช่วยเหลือการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาสนับสนุน เป็นต้น

“กลุ่มผู้ประกอบการใน 2 อุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่ได้ รับผลกระทบมาก ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเยอะ และคิดเป็นต้นทุนการผลิตกว่า 25-40% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงต้องเข้ามาดูแล โดยจะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุดให้ทันการประชุมกพช.” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายอำนาจ ยะโสธร เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดูเหมือนรัฐบาลจะรีบเร่งพิจารณามากเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ได้ส.อ.ท.ได้หารือร่วมกับกระทรวงพลังงานว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และตัวแทนจากภาคเอกชน เพื่อศึกษาผลกระทบและร่วมกันหามาตรการสนับสนุน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นตั้งคณะทำงานเลย

ทั้งนี้ เอกชนจึงจะยืนยันแนวทางเดิมที่ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการสนับสนุน ไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้

"ขณะนี้เอกชนก็ต้องติดตามการประชุมกพช.อย่างใกล้ชิดว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครรู้ว่าแนวทางจะออกมาเป็นอย่างไหน" นายอำนาจ กล่าว    

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาแอลพีจีในขณะนี้ถือว่าเร็วเกินไป เพราะตอนนี้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแทบทุกประเภทปรับขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เดือดร้อนแน่นอน ดังนั้นการปรับขึ้นจึงควรทยอยปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวประมาณ 3-6 เดือน รวมถึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวแน่นอน

"ควรจะพิจารณายืดเวลาการปรับราคาแอลพีจีออกไปก่อน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจก็ชะลอตัว การค้า การลงทุนก็เริ่มชะลอลง และเมื่อต้นทุนสูงผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ เอสเอ็มอีจะลำบากแน่นอน"นายยุทธศักดิ์ กล่าว