posttoday

ทรีบรอดแบนด์ฟ้องทีทีแอนด์ทีทำเสียลูกค้า2แสนราย

07 กุมภาพันธ์ 2554

ศึกสายเลือดระอุ ทริปเปิลที เตรียมฟ้อง ทีทีแอนด์ที หลังถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต สูญลูกค้ากว่า 3 แสนราย 

ศึกสายเลือดระอุ ทริปเปิลที เตรียมฟ้อง ทีทีแอนด์ที หลังถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต สูญลูกค้ากว่า 3 แสนราย 

นายวสุ ประสานเนตร กรรมการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์  ผู้ให้บริการ ทรี บรอดแบนด์ (3BB) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพิจารณาการฟ้องร้องทางแพ่งกับ ทีทีแอนด์ที  เนื่องจากทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงและสูญเสียรายได้จากการที่ลูกค้าต้องได้รับผลกระทบและต้องยกเลิกการใช้บริการกับบริษัท โดยยอดลูกค้าที่หายไปหลังจากที่ประสบปัญหาอยู่ที่ 3 แสนราย

ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม  หรือ สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการของทรี บรอดแบนด์ บริษัทในเครือ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เนื่องจากผู้ใช้บริการถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า  และพบว่ามีผู้เดือนร้อนมากกว่า 20 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ลำพูน อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุราษฏรธานี และตรัง

นายวสุ กล่าวว่า  ทรี บรอดแบนด์ มีลูกค้าทั่วประเทศประมาณ 7 แสนราย ซึ่งตั้งแต่กลางปี 2552 เมื่อทีทีแอนด์ที เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้เกิดกรณีฟ้องร้องระหว่างกัน ทำให้ทรี บรอดแบนด์ ได้ลดการใช้งานวงจรเช่าของ ทีทีแอนด์ทีจากที่เคยใช้งานอยู่ 3.2 แสนวงจร เหลืออยู่เพียง 1.2 หมื่นวงจร ส่งผลให้ลูกค้าขอยกเลิกใช้บริการกว่า 2 แสนราย

“บริษัทไม่มีนโยบายยกเลิกการให้บริการอินเทอร์เน็ตกับลูกค้า โดยจะรับคำร้องดังกล่าวไปปรึกษากับผู้บริหารเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งตั้งแต่ปี 2552 ทริปเปิลที บรอดแบนด์ มีปัญหามาโดยตลอดกับทีทีแอนด์ทีจากการเช่าใช้วงจรเช่า  กระทบต่อคุณภาพในการให้บริการที่มีทั้งสัญญาณหลุด และซ่อมช้า” นายวสุ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทได้ใช้ได้เตรียมลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายขึ้นเองหวังรองรับการใช้งานและการให้บริการแก่ลูกค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้า  ตั้งเป้ามีลูกค้าภายในสิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย  แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาในเรื่องของการเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าไปบริหารจัดการและซ่อมบำรุง ซึ่งต้องประสานงานกับทีทีแอนด์ที        

นายประสงค์ บุศปพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ได้ส่งหนังสือเรียกบริษัท ทริปเปิลที เข้ามาเจรจากรณีดังกล่าว แต่ ทริปเปิลที ปฏิเสธการเข้ามาเจราจา ทำให้ทีทีแอนด์ทีต้องทำหนังสือเรียกมาพิจารณาค่าเช่าวงจร และสัญญาร่วมบริการอีกครั้ง ทั้งนี้ มีกำหนด 60 วัน โดยจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ก.พ.นี้    

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติอาจขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.หาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายไว้รองรับในบริเวณที่เป็นปัญหาเพื่อให้ลูกค้าสามารถย้ายไปใช้บริการได้ ขณะที่ค่าใช้จ่าย กสทช.ต้องพิจารณาว่าจะให้ใครรับผิดชอบอีกครั้ง

นายสุธรรม อยู่ในธรรม ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในวันพุธ ที่ 9 ก.พ.นี้จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ หรือ บอร์ด กสทช. ให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเรียน และผู้บริโภคที่ไม่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนแต่อยู่ในสภาพเดียวกัน ซึ่งจะประกาศบังคับใช้ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2544 ที่ต้องเชื่อมต่อบริการให้แก่ผู้บริโภคหากมีการตัดสัญญาณ