posttoday

รายย่อยขยับราคาไข่ไก่10สต.

25 มกราคม 2554

กลุ่มผู้เลี้ยงไข่รายย่อยระบุสภาพอากาศแปรปรวนทำผลผลิตลดบวกต้นทุนปรับตัวเพิ่ม แห่ปรับราคาไข่หน้าฟาร์มฟองละ10สต.เป็น 2.80บาทต่อฟอง

กลุ่มผู้เลี้ยงไข่รายย่อยระบุสภาพอากาศแปรปรวนทำผลผลิตลดบวกต้นทุนปรับตัวเพิ่ม แห่ปรับราคาไข่หน้าฟาร์มฟองละ10สต.เป็น 2.80บาทต่อฟอง

กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ระบุว่า สภาพอากาศแปรปรวน หนาวเย็นฉับพลัน ทำให้ไข่ไก่เสียหาย ผลผลิตลดลงเฉลี่ยวันละ 20-30% สวนทางความต้องการตลาดที่ยังมีอยู่มาก อีกทั้งต้นทุนสูงขึ้น จึงตกลงร่วมกันปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีกฟองละ 10 สตางค์ เป็น 2.80 บาทต่อฟอง ยกเว้นบริษัท ซีพี เพียงรายเดียว ยืนยันขายราคาเดิม 2.70 บาท ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ตรึงราคา

ด้านนายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไม่ได้สั่งทบทวนมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่ให้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มทุกชนิด ทุกขนาด ทั้งขวด ปี๊บ และถุง พร้อมให้เพิ่มไข่ไก่ และบริการรับฝาก (คลังสินค้า) เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม

หลังจากนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชเพื่อบริโภคจะไปกำหนดราคาขายปลีกทั้งขนาดบรรจุขวด ปี๊บ และถุง ตามต้นทุนภาชนะที่ใช้บรรจุ เช่น น้ำมันปาล์มบรรจุถุง (1 ลิตร) อาจให้ขายไม่เกิน 45 บาท/ถุง เพราะมีต้นทุนภาชนะที่ใช้บรรจุถูกกว่าแบบขวด รวมถึงแบบปี๊บก็เช่นเดียวกัน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งให้กรมการค้าภายในหารือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับหมูทั้งระบบถึงสถานการณ์ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงที่ยังไม่ปรับลดราคาลงตามต้นทุนหมูเป็นฟาร์มที่ลดราคาลงมา เบื้องต้นจะให้เข้าไปดูในขั้นตอนการขายส่ง คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์สถานการณ์จะคลี่คลาย

ขณะที่การดูแลสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะนี้มีแนวโน้มจะมีการขอปรับขึ้นราคา เช่น สบู่ ผงซักฟอก ในส่วนนี้จะพิจารณาต้นทุนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนมาตรการจำหน่ายไข่แบบชั่งกิโลเป็นนโยบายของรัฐบาล กระทรวงต้องปฏิบัติตาม แม้จะมีเสียงคัดค้านถึงความไม่สะดวก และเรื่องตาชั่ง จะหาวิธีปัดเศษสตางค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ซื้อ และคงต้องทดลองใช้ระยะหนึ่งก่อน ถึงจะสรุปผลออกมาได้ว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้จริงหรือไม่

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้ร้านอาหารไทยในอียู โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร โดยเฉพาะพืชสมุนไพร 16 ชนิดที่ไทยเตรียมระงับการส่งออกชั่วคราวหลังจากเจอสารพิษตกค้าง ทำให้ต้องใช้ผักจากประเทศอื่นแทน เช่น ลาว เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหา หากล่าช้าอาจทำให้ไทยเสียตลาด

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือมาขอหารือนำเข้าน้ำมันปาล์มอีก 5 หมื่นตัน กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะกระทบผลผลิตในประเทศหรือไม่ เช่นเดียวกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแจ้งว่าเดือดร้อนมาก ขาดแคลนน้ำมันปาล์ม คาดว่าเดือน ก.พ. อาจต้องหยุดผลิต