posttoday

นักวิจัยชี้พบอาคารกลุ่มเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอื้อ

21 มกราคม 2554

นักวิจัยเอไอทีชี้พบอาคารกลุ่มเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอื้อ ระบุ กรุงเทพฯ อาคารสูงเกิน19 ชั้นโครงสร้างไม่รองรับเสี่ยงถล่ม

นักวิจัยเอไอทีชี้พบอาคารกลุ่มเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอื้อ ระบุ กรุงเทพฯ อาคารสูงเกิน19 ชั้นโครงสร้างไม่รองรับเสี่ยงถล่ม

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) เปิดเผยว่า งานวิจัยของโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยในระยะ ที่ 2 พบว่ามีอาคารซึ่งจัดว่าอยู่ในข่ายอ่อนแอ ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้จำนวนมาก ทั้งนี้ รูปแบบอาคารในกลุ่มดังกล่าว ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนใหญ่บริเวณชั้นล่างเปิดโล่ง ไม่มีกำแพง เป็นรองรับโครงสร้าง รวมถึงเป็นอาคารที่มีคานใหญ่กว่าเสา ซึ่งอาคารกลุ่มนี้ มักจะเป็นอาคารที่เป็นตึกแถวทั่วๆ ไป

นายเป็นหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มอาคารตามที่กล่าวมา จึงมีจุดอ่อนอยู่ที่โครงสร้าง ซึ่งถือว่าไม่ได้ออกแบบมาให้รับน้ำหนัก ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย โครงสร้างหรือน้ำหนักของทั้งตัวตึกจะถูกจะถ่ายเทไปที่ชั้นล่างของอาคาร เสาซึ่งขาดความยืดหยุ่น ทนต่อแรงสั่นสะเทือน อาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักของตัวอาคาร จนอาจจะเกิดการถล่มได้

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครฯ อาคารซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว คือกลุ่มอาคารสูง ที่มีขนาดตั้งแต่ 19 ชั้นเป็นต้นไป ขณะที่อาคารกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นอาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นอาคารบริเวณใกล้ในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหวทั่วประเทศ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา กาญจนบุรี โดยงานวิจัย ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดหรือจำนวนได้ เพราะจำเป็นที่จะต้องมีเก็บสถิติเรื่องนี้ เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลต่อไป

สำหรับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยขนาด 7.0 ริกเตอร์ พบว่า เกิดขึ้นประมาณ 200-300 ปีต่อครั้ง และโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ริกเตอร์ประมาณ 50-60 ปีต่อครั้ง แต่ที่เกิดบ่อยประมาณ 5-10 ปีต่อครั้ง คือ แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์ ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน แต่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรง จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดและวิธีการเสริมโครงสร้างอาคารในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหวทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของโครงการฯ ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาให้อาคารในลักษณะดังกล่าว เพื่อเตรียมการรับมือ โดยกับแผ่นดินไหวได้ โดยใช้ไฟเบอร์คาร์บอนด์เป็นวัสดุเสริมความแข็งแรงให้กับเสาของอาคาร และโครงสร้างค้ำยันเหล็กประสิทธิภาพสูง ซึ่งทำให้สามารถป้องกันแผ่นดินไหวได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า