posttoday

พณ.ดึง6แบงก์ออกหนังสือรับรองนิติบุคคล

13 มกราคม 2554

“พาณิชย์” ดึง 6 แบงก์พาณิชย์เซ็นเอ็มโอยู เปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

“พาณิชย์” ดึง 6 แบงก์พาณิชย์เซ็นเอ็มโอยู เปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยในการจัดงานครบรอบ 88 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาติ และธนาคารออมสิน โดยพร้อมจะเปิดให้บริการภายในปีนี้

การเปิดให้บริการดังกล่าว ธุรกิจที่ต้องการขอหนังสือรับรองนิติบุคคล ทั้งบัญชีผู้ถือหุ้น งบการเงิน งบกำไรขาดทุน สามารถไปยื่นขอที่ธนาคารพาณิชย์ โดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียม และรอรับได้เลย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจได้รับความสะดวก คล่องตัว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลให้ธุรกิจมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ทั้ง 6 ธนาคาร มีสาขารวมกันประมาณ 4,400 สาขา ในกรุงเทพฯ 1,300 สาขา ในต่างจังหวัดประมาณ 3,100 สาขา ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการ จะมีสำนักงานของกรม หรือเอาท์เลตของกรมเพิ่มมาอีกกว่า 4,400 แห่งทั่วประเทศ  โดยระยะต่อไปจะขยายบริการให้ครบทุกสาขาธนาคารกว่า 7,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการมอบอำนาจให้กรมออกสิ่งพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที เป็นประธานกำลังพิจารณาอยู่ ถ้าผ่าน  กรมจะมีอำนาจออกสิ่งพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็จะเริ่มเปิดให้บริการกับทั้ง 6 ธนาคารได้ทันที 

สำหรับการพัฒนางานให้บริการธุรกิจในปีนี้ กรมจะเดินหน้าผลักดันการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มเติมจากเดิมที่ยื่นคำขอ 1 ได้ถึง 3 ได้เลขนิติบุคคล เลขบัญชีนายจ้าง และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี โดยจะปรับให้ใช้เลขทะเบียนเดียวกันทั้ง 3 หน่วยงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานประกันสังคม และกรมสรรพากรว่าเลขทะเบียนเดิมจะทำอย่างไร จะปรับอย่างไร แต่ในส่วนของเลขทะเบียนใหม่ ไม่น่ามีปัญหา สามารถเริ่มได้เลย คาดว่าภายในกลางปีนี้จะแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน จะปรับหลักเกณฑ์ให้มีการจดทะเบียนธุรกิจข้ามเขตได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพราะบางพื้นที่มีธุรกิจตั้งอยู่มาก แต่ต้องเดินทางมาจดทะเบียนอีกที่หนึ่ง เช่น จ.ชลบุรี ธุรกิจ 70% ตั้งอยู่ที่พัทยา หากอยากจดทะเบียนก็ต้องมาที่ชลบุรี สมุย ต้องมาที่จ.สุราษฎร์ธานี หัวหิน ต้องมาที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ และแม่สอด ต้องมาที่จ.ตาก เป็นต้น กรมฯ กำลังจะปรับให้สามารถจดทะเบียนในพื้นที่ได้ เป็นการนำร่องก่อน 4 จังหวัด ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ คาดว่ากลางปีนี้จะแล้วเสร็จเช่นกัน

นอกจากนี้  กรมจะเน้นการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเพิ่มขึ้น มีแผนพัฒนาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยให้ออกไปสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น ผ่านการทำงาน 3 ขั้นตอน คือ 1.พัฒนาให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ โดยพัฒนาองค์ความรู้ ฝึกอบรม เพื่อให้เข้าสู่ระบบ 2.นำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว มาบ่มเพาะให้ดียิ่งขึ้น โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการจัดทำหลักสูตร และมีการประกวดแฟรนไชส์ ควอลิตี้ อวอด และ 3.นำแฟรนไชส์ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วออกไปบุกเจาะตลาดประเทศให้เพิ่มมากขึ้น