posttoday

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

08 มิถุนายน 2565

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จับมือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIProm) ผลักดันกัญชงสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) อย่างเป็นรูปธรรม ประเดิมปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากงานวิจัยกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ตามหลักโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) หวังลดขยะอุตสาหกรรม และเสริมศักยภาพห่วงโซ่อุปทานพืชกัญชง

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ สำนักงานใหญ่ ปตท. บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIProm) เข้าพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.  กล่าวว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ปตท. จึงมีพันธกิจไม่เฉพาะการดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงาน แต่ยังมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในธุรกิจในกลุ่ม New S-Curve เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการผลักดันกัญชงให้เป็นเศรษฐกิจชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม”

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

“กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง โดยสามารถใช้ประโยชน์ของต้นได้ทุกส่วน และนำไปต่อยอดสินค้าอุตสาหกรรมได้หลากหลายชนิด ตั้งแต่อาหาร ยา สิ่งทอ และเครื่องใช้ต่างๆ โดยตลาดสินค้ากัญชงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2570 ตลาดผลิตภัณฑ์จากพืชกลุ่มกัญชงทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 18,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 600,000 ล้านบาท” นายอรรถพล กล่าว

นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “GC มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นเส้นใยชีวภาพที่มีศักยภาพในการนำไปใช้งาน”

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ GC จะสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Compound) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพร่วมกับเส้นใยกัญชง อาทิ หลอดพลาสติกชีวภาพ ที่มีส่วนผสมของเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต ที่จะช่วยลดขยะเส้นใยกัญชงเหลือทิ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง และสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ที่มีเนื้อหาสาระการห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงหิ้ว โฟม แก้ว และหลอดพลาสติกในปี พ.ศ. 2565  

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  เผยว่า “ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ ดีพร้อม ร่วมหารือกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

สำหรับการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติครั้งนี้ ดีพร้อมจะดำเนินการร่วมกับ GC ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนของกลุ่ม ปตท. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งแต่การเรียนรู้ การต่อยอดงานวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชง ไปจนถึงการเชื่อมโยงการตลาดของเครือข่ายพันธมิตรทั้งสองหน่วยงาน และการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพลาสติกชีวภาพในเครือข่ายพันธมิตรของดีพร้อมและบริษัทในเครือ ปตท.

กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมไทย รายงานว่า ปัจจุบัน ปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตราย เช่น เศษไม้ เศษกระดาษ เศษพลาสติก เศษยาง เศษผ้า เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งมีจำนวนถึง 4.8 ล้านตันต่อปี ทำให้ในแต่ละปีจะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมากในการดูแลและกำจัด

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

“หลังจากนำกัญชงไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ จะเกิด “เส้นใยสั้น” ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้ง เฉลี่ยประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัม โดยปัจจุบัน มีการขออนุญาตเพาะปลูกกัญชงจำนวนกว่า 631 ไร่ ปลูกได้ 2 รอบต่อปี ดังนั้น จะมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า 505,000 กิโลกรัมต่อปี” ดร.ณัฐพล กล่าว

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

“ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของพืชกัญชง จึงได้เกิดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อนำเส้นใยเหลือทิ้งจากการแปรรูปกัญชงมาเพิ่มมูลค่า พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและเป็นไปตามแนวทางการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยดีพร้อมจะสนับสนุนการจัดหาเส้นใยกัญชงสำหรับใช้ในการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย”

GC ผนึก ดีพร้อม เล็งปั้นหลอดไบโอพลาสติกจากกากกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปักธงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

นายวริทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “GC หวังว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการพืชกัญชงและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย ผ่านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมศักยภาพทั้งในด้านองค์ความรู้จากงานวิจัย การผลิต การแปรรูป และการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง รวมถึงเส้นใยสั้นหรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ และเกษตรกร เพื่อต่อยอดนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจใหม่นี้ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงมากในอนาคต