posttoday

สรท.เชื่อส่งออกปีนี้แตะ 8% สวนทางวิกฤตยังมีโอกาส

07 มิถุนายน 2565

สรท.ปรับเป้าส่งออกปี’65 โต 5-8% อิง 3 ค่าเงิน 34 บาทชงรัฐคงดอกเบี้ยนโยบายคุมราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมองครึ่งปีหลังมีโอกาสขยายตัวภายใต้วิกฤติความผันผวน”

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.5%ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลเท่ากับ 1,908.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย. เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัว 8.2%) ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 99,975.1ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.2% ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุลเท่ากับ 2,852.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาสที่สองของปี 2565 เติบโต 3 - 5% โดยปรับเป้าหมายการส่งอกปีนี้ไว้ที่ 5-8% (ณ เดือนมิถุนายน 2565) จากเดิมขยายตัว 5%เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มที่ดีแม้จะเผชิญกับวิฤตพลังงานและอาหารที่แพงก็ตาม โดยยังมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้

อย่างไรก็ตามปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ต้องระวังได้แก่ 1.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงจากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลกโดยทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

2.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น9.2% (YoY) ส่งผลกระทบต่อ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกหดตัวลง 3. สถานการณ์ระวางเรือยังคงตึงตัวในหลายเส้นทางและค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากเรือแม่ยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าในไทยได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่แม้ค่าระวางเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง แต่พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ยังคงมีการปรับขึ้นและผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

นอกจากนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลดังนี้1. ขอให้ ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่นที่ผันผวนสูงและขอให้กนง.คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้

2.รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือด้านการลดภาษีสรรพาสามิตและเงินกองทุนน้ำมัน หรือกลไกในการควบคุมต้นทุนการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากจนเกินไป และ 3. การควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไปขอให้พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็น