posttoday

เอกชนห่วงเงินเฟ้อ ซ้ำเติมต้นทุนผลิตพุ่ง วอนรัฐลดภาษีวัตถุดิบ กดดีเซล 3 เดือน

02 มิถุนายน 2565

โพลล์ ส.อ.ท.กังวลภาวะเงินเฟ้อ-ราคาพลังงาน ส่งผลผู้ประกอบการดิ้นลดต้นทุน จี้รัฐออกมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม ตรึงดีเซลอีก 3 – 6 เดือน

นายมนตรี  มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 17 ในเดือนพฤษภาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “เงินเฟ้อกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และปัญหา Supply chain disruption เป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน

รวมทั้งยังกดดันกำลังซื้อภาคครัวเรือนให้ลดลงอีกด้วย โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดว่าตลอดทั้งปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ระดับ 4 – 5% ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs

ตลอดจนการปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต เช่น วัตถุอาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น และตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องไปอีก 3 - 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน นอกจากนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากยุโรปและสหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก จนทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ได้

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 200 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด จำนวน 6 คำถาม  พบว่า  

1.ปัจจัยใดเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่อันดับที่ 1  ตอบว่า ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 86.50% รองลงมาเป็น ภาวะสงครามจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน  77.00%  ส่วนอันดับที่ 3 ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากปัญหา Supply chain disruption 69.50% และ อันดับที่ 4 : ความต้องการสินค้าและบริการที่มีมากเกินไปหลังการเปิดประเทศ 13.50%

2. ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบในเรื่องใดส่งผลต่อเศรษฐกิจและประชาชนในวงกว้าง อันดับที่1 ตอบว่า การแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จนส่งผลต่อภาวะราคาสินค้าแพง 88.50% อันดับที่ 2 ภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ 64.00%  อันดับที่ 3  กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ลดลง  57.00%และ อันดับที่ 4 ประกอบการมีความระมัดระวังในการลงทุน และจำกัดการจ้างงาน 30.50%

3.คาดการณ์เงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในระดับใด โดยส่วนใหญ่ตอบว่า อัตราเงินเฟ้อ 4 – 5 % รองลงมาก อัตราเงินเฟ้อ 6 – 8 %   และอัตราเงินเฟ้อ 1 – 3 % 

4. ภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับต้วสูงขึ้นต่อเนื่อง  อันดับที่ 1 ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และบำรุงรักษาเครื่องจักร 74.50% ให้มีประสิทธิภาพ อันดับที่ 2 : นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ 62.00%  อันดับที่ 3 เน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ 54.00%  อันดับที่ 4  หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นทางเลือก 50.50%

5.ภาครัฐควรมีมาตรการอย่างไร ในการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง  อันดับที่ 1  มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย 59.50%  และผู้ประกอบการ SMEs อันดับที่ 2  ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต  58.50% อันดับที่ 3 : ตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องไปอีก 3 - 6 เดือน 58.00%  อันดับที่ 4  ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.00%

6.ปี 2565 จะมีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือไม่   อันดับที่ 1 เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอย  76.00%  อันดับที่ 2  เศรษฐกิจโลกยังมีเสถียรภาพและสามารถขยายตัวได้  24.00%