posttoday

“จุรินทร์” ชู BCG Model วงเสวนาเอเปค ดันเอสเอ็มอี- ไมโครเอสเอ็มอี สู่ตลาดโลก

20 พฤษภาคม 2565

‘จุรินทร์’ โชว์ BCG Model เวทีเอเปค ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่มเขตเศรษฐกิจ ผลักดันเอสเอ็มอีแจ้งเกิดแข่งขันเวทีตลาดโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พา ณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 ว่า วัตถุประสงค์ของการเสวนาเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) และต้องการให้เวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ในการใช้โมเดลเศรษฐกิจ แบบ BCG และแลกเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและการส่งเสริมให้ MSMEs ปรับตัวเข้าสู่การใช้ BCG Model ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคต่อไป

ทั้งนี้ BCG Model ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ 1. Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อนำความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคและไทยมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular  Economy ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หรือ Reduce นอกจากนั้น เพื่อนำของเหลือใช้หรือผลิตผลพลอยได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจหรือ Reuse  และสุดท้าย Recycle นำของใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ไหม่เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

และ3. Green Economy เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักและเพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามประเทศไทยประกาศ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2021 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับ SDGs Goal ของสหประชาชาติ 17 ข้อ (Sustainable Development Goals–SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) และหลายประเทศก็กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นออสเตรเลีย มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในรัฐควีนส์แลนด์ สิงคโปร์ มีนโยบาย Zero Waste Masterplanที่มุ่งไปสู่การปลอดขยะของประเทศ และจีนมีแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และประเทศแคนาดาใช้นโยบาย ไบโอดิจิทัล คอนเวอร์เจนซ์ (Bio-Digital Convergence)ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบสิ่งมีชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัล

ส่วน BCG Model ของไทยจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ ทั้งไทย  กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเปคและโลกในอนาคต ทั้งการสร้างรายได้และกระจายรายได้ และวันนี้มุ่งเน้นให้ SMEs และ Micro SMEs พัฒนาภาคการผลิตและภาคการบริการโดยใช้ BCG Model เป็นด้านหลัก เพื่อให้ภาคการผลิตและบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปคทุกเขต

“ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของไทยหลังจากประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ได้มีการแยกหมวดการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าและบริการเป็นหมวด BCG โดยเฉพาะ ทั้งการผลิตสินค้าแห่งอนาคต อาหารฟังก์ชัน อาหารทางการแพทย์อาหารออร์แกนิก สินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise  ทั้งหมดนี้กำลังขับเคลื่อนโดยใช้ BCG Model และแยกตัวเลขให้เห็นชัด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 เดือนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่าการค้าในหมวดนี้เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 จะทำให้สมาชิกเอเปคแลกเปลี่ยนประสบการณ์หาหนทางใหม่ในการขับเคลื่อนร่วมกันและเพื่อให้การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ Open Connect Balance บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป