posttoday

แก้ของแพง-เงินเฟ้อสูง....โจทย์ยากท้าทายรัฐบาลบิ๊กตู่

16 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สภาวะประชาชนคนไทยโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน-กลุ่มคนรายได้น้อยและผู้สูงวัยรวมถึงผู้ที่เกษียณจากงานที่อาศัยอยู่ในเมืองกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคประเภทของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน  พาเหรดขึ้นราคาจนทำให้ดัชนีเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ณ ช่วงนี้ไปที่ไหนมีแต่ผู้คนบ่นว่าข้าวของแพงทำให้พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ที่รัฐมนตรีลอยตัวให้ยาหอมว่าตรึงราคาไว้ได้ที่ขึ้นเป็นเพียงจิ๊บจ๊อยไม่กี่รายการ ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่าแก้ปัญหากันอย่างไรและเป็นจังหวะที่เสถียรภาพการเมืองง่อนแง่นอาจขยายวงเขย่ารัฐบาล

ต้องยอมรับความจริงว่าราคาข้าวของเริ่มขยับราคากันทุกคลัสเตอร์ดันเงินเฟ้อเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.65 ลดจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5.73  ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อ (ทั่วไป) ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.0 ปีนี้คาดว่าอาจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ถึง 5.0 และคงไม่หยุดแค่นี้เนื่องจากมีปัจจัยเอื้อมากมายที่ถูกผลักดันจากต้นทุนด้านอุปทานทำให้เป็นเงินเฟ้อในลักษณะ “Cost-Push Inflation” ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกทำอะไรมากไม่ค่อยได้ ขอยกตัวอย่างเป็นข้อๆ เริ่มจาก

ประการแรก ราคาพลังงานในรูปของน้ำมันดิบและแก๊สปรับตัวสูงดูจากตัวเลขนำเข้าเชื้อเพลิงไตรมาสแรกขยายตัวเป็นเงินบาทสูงถึงร้อยละ 103.4 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่โควิดระบาดรุนแรงนำเข้าเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ 20.08 ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นลิตรละ 9.85 บาทหรือคิดเป็นร้อยละ 31.6 เป็นเงินที่คนใช้รถเบนซินต้องควักกระเป๋าเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้

ที่กำลังจะเป็นปัญหาคือน้ำมันดีเซล B7 ที่รัฐบาลลดการอุดหนุนชดเชยครึ่งหนึ่งจากลิตรละ 29.94 จะเพิ่มเพดานไม่เกินลิตรละ 5 บาท โดยก่อนหน้านี้ขึ้นไปแล้วสองบาท รัฐบาลเกรงว่าจะกระทบเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงลดภาษีสรรพสามิต 3 บาทต่อลิตรใช้เงินไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งกำลังจะปรับลดสัดส่วนผสมน้ำมันปาล์มจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ทำให้ประหยัดได้ลิตรละ 50 สตางค์ ราคาน้ำมันดีเซลหากปรับตามเพดานจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนขนส่งประมาณร้อยละ 8.5-10  สมาคม/องค์กรที่เกี่ยวกับรถบรรทุกแจ้งว่าจะปรับค่าขนส่งร้อยละ 15-20 หากทำได้จริงจะเห็นราคาสินค้าปรับสูงกว่านี้ ต้องเข้าใจว่าราคาพลังงานที่ปรับสูงแบบก้าวกระโดดเกิดจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ซัพพลายหายไปมาก ราคาน้ำมันโลกตลาดนิวยอร์ก (WTI) ช่วงนี้สวิงขึ้น-ลงจากต้นปีอยู่ที่ 76-78 USD./บาร์เรล วันศุกร์ที่ผ่านมาราคาสวิงอยู่ที่ 104-107 USD./บาร์เรลหรือช่วงสามเดือนสูงขึ้นเฉลี่ย   ร้อยละ 36.8

ประการที่สอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบสิบปีเป็นปัจจัยทำให้เกิดเงินเฟ้อที่เรียกว่า “Baht Depreciation” หากอยากรู้ว่าบาทอ่อนค่าแค่ไหนปีที่แล้วอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 31.95 บาท/USD. ศุกร์ที่แล้วอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.790 บาท/USD. และยังอยู่ในช่วงอ่อนค่าทำให้ราคาสินค้านำเข้าในเชิงเงินบาทสูงขึ้น 2.84 บาทหรือราคาสินค้านำเข้าสูงจากบาทอ่อนค่าถึงร้อยละ 8.90 ส่งผลทำให้ราคาน้ำมัน-วัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูป-สินค้าอุปโภค-บริโภครวมถึงค่าขนส่งระหว่างประเทศสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนผลิตอาหารสัตว์รวมถึงปุ๋ย สะท้อนจากดัชนีราคาต้นทุนผู้ผลิตเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นถึงร้อยละ 12.8 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้ารวมถึงราคาอาหารตลอดจนข้าวแกงไปถึงก๋วยเตี๋ยวริมถนนปรับราคาสูงซึ่งสอดคล้องกับเงินเฟ้อหมวดอาหารเดือนเมษายนสูงถึงร้อยละ 4.83  

ประการที่สาม ปัจจัยเอื้อทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อจากโซ่อุปทานโลกมีการสะดุดในลักษณะ “Supply Short” ทั้งปัจจัยจากสงครามยูเครนและกรณีรัสเซียถูกแซงชั่นการส่งออกทำให้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าทั่วโลกขาดแคลน ตลอดจนเส้นทางขนส่งทะเลดำเป็นอัมพาตและมีความเสี่ยง อีกทั้งประเทศจีนยังเข้มมาตรการ “Dynamic Zero Covid” ล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ และท่าเรือสำคัญของจีน เช่น ท่าเรือเซียงไฮ้ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่สุดของโลกมีเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่กว่า 500 ลำรอขนถ่ายสินค้า ขณะที่ท่าเรือชิงเตาและเซินเจิ้นปิดๆ เปิดๆ ทำให้สินค้าจากจีนเข้า-ออกไม่สะดวกสินค้าตกค้างจำนวนมากกระทบโซ่อุปทานการผลิตทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกและของไทยสูงขึ้น

ประการที่สี่ เงินเฟ้อเกิดจากการเก็งกำไร “Speculative Inflation” เนื่องจากมีปัจจัยเอื้อทำให้กลายเป็นการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโดยเฉพาะน้ำมันดิบ, เหล็ก, ทองคำ, ธัญพืช สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าวโพด รวมถึงการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เงินสกุลต่างๆ แปรปรวน นอกจากนี้เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงถึงร้อยละ 8.3-8.5 เป็นผลพวงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณใช้เงินมหาศาลต่อเนื่องยาวทำให้สภาพคล่องส่วนเกินสูงประชาชนมีการใช้จ่ายมากผิดปกติในลักษณะ “Pent Up Demand” กระทบต่อราคาส่งออกซึ่งเป็นต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมสูงตาม ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นเหตุผลว่าทำไมเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐจึงอ่อนค่า

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเงินเฟ้อของไทยครั้งนี้ไม่ใช่ปกติวิสัยเพราะไม่ได้เกิดจากความต้องการของผู้บริโภคที่เป็น “Demand Pull”  ปัจจัยหลักที่ข้าวของแพงเกิดจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ประชาชนสตางค์ไม่พอใช้ส่วนใหญ่ “กระเป๋าแฟบ” อยู่ได้จากการเป็นหนี้ทั้งบัตรเครดิต หนี้ในระบบ และนอกระบบ ส่วนหนึ่งกู้ไปเพื่อจับจ่ายใช้สอยชีวิตประจำวันผลคือหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงทุกไตรมาสกลายเป็นกับดักฟื้นตัวเศรษฐกิจ ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจยังมีความอ่อนไหวสะท้อนจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร เช่น เครื่องนุ่งห่ม ของฟุ่มเฟือย เงินเฟ้อหดตัวร้อยละ 0.17  ภาคค้าปลีกปีที่แล้วรายได้หายไปเกือบ 1 ใน 5   

แม้แต่ภาคส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรเดียวที่ยังขับเคลื่อนในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวเชิงเหรียญสหรัฐร้อยละ 14.94  ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากบาทอ่อนค่าทำให้ขยายตัวเชิงเงินบาทสูงถึงร้อยละ 26.09  เซกเตอร์ส่งออกต่างทำกำไรได้ดีองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องขอให้รัฐบาลตรึงเงินบาทให้อ่อนๆ ที่ต้องเข้าใจโครงสร้างส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในเซกเตอร์อุตสาหกรรมซึ่งส่วนมากพึ่งพาการนำเข้าผลิตเพื่อการส่งออก (Re-Export) ในสัดส่วนที่สูงมาก อาจมีเพียงภาคเกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศแต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8 ของภาคส่งออกทั้งหมด หากวิเคราะห์เจาะลึกจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าส่งออกเทียบกับการนำเข้าพอๆ กัน เห็นได้จากช่วงมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมาในเชิงเงินเหรียญสหรัฐอยู่ที่ 1 : 1.05  หากเทียบในเชิงเงินบาทสัดส่วนส่งออกต่อการนำเข้าอยู่ที่ 1.10  เงินบาทอ่อนค่ามีผลกระทบข้างเคียงเงินสกุลต่างชาติจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหรียญสหรัฐเมื่อได้มาก็ต้องใช้ไปกับการนำเข้าไปทั้งหมด

ข้อสังเกตุไตรมาสแรกมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในเชิงเงินเหรียญสหรัฐขยายตัวเพียง   ร้อยละ 7.28 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัวถึง 3.6 เท่า แสดงถึงการผลิตและการบริโภคที่ยังอ่อนแอขณะที่การนำเข้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งเชิงพาณิชย์ในช่วงเดียวกันหดตัวถึงร้อยละ 20.17  ข้อมูลนี้บ่งชี้ถึงสถานภาพเศรษฐกิจไทยถึงแม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังฟื้นตัวได้ช้า จากสภาวะเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่ยังเปราะบางถึงแม้โควิดจะระบาดน้อยลงทำให้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 8 ล้านคนแต่เป็นเพียง 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวปกติที่เคยเข้ามาก่อนโควิด ดังนั้นภาคท่องเที่ยวและแรงงานในเซกเตอร์นี้คงไม่ได้ฟื้นตัวง่ายๆ และเร็วๆ แต่สัญญาณเชิงบวกท่องเที่ยวในประเทศอาจฟื้นตัว คนที่พอมีสตางค์เข้าไปเริ่มจับจ่ายใช้สอยหรือรับประทานอาหารตามห้าง ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมายอดจองโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเต็มหมด

วิกฤตเงินเฟ้อครั้งนี้คงยาวอย่างน้อยเฉียดปลายปีเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งสัญญาณยืดเยื้อทำให้ราคาน้ำมันยังไม่ลงและด้านซัพพลายยังไม่แน่นอน เป็นโจทย์ยากไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลจากพรรคการเมืองใดที่จะเข้ามาแก้ ในช่วง “Low Season” ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจมีอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกขณะเพราะการเมืองคือการเมืองที่จะนั่ง “เรือแป๊ะ” ที่ไม่มั่นคงอยู่ในช่วงขาลง นักการเมืองอาชีพเขาคิดยาวไปอีกช็อตแล้ว ที่กังวลและกล่าวมาหลายครั้งคือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราสูงเกินความสมดุลที่ตลาดแรงงานจะรับได้จะกลายเป็นประชานิยมเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อที่เรียกว่า “High Wage - High Price Spiral” คือค่าแรงขึ้นสูงทำให้ส่งต่อผลักต้นทุนไปให้ผู้บริโภคผลคือราคาสินค้าและเงินเฟ้อสูงตามแบบพันเป็นเกลียวซึ่งแก้ยากมากและเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ข้อมูลในอดีตบ่งบอกว่าเมื่อปากท้องชาวบ้านไม่อิ่มจากราคาข้าวของแพง เงินไม่พอใช้ ในยามยากประชาชนต้องการให้รัฐบาลมีกึ๋นในการเข้ามาแก้ปัญหาทั้งที่ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกซึ่งการประชาสัมพันธ์ของรัฐในประเด็นนี้อ่อนมาก การแก้ปัญหาระยะสั้นยังไม่เห็นว่าประเทศไหนยังทำได้ ขณะที่ของไทยมีจุดอ่อนที่ขาดมือเศรษฐกิจที่จะมาฟื้นความเชื่อมั่น ผลจากเงินเฟ้อที่กลายเป็นวิกฤตไม่มีรัฐบาลไหนหากแก้เรื่องปากท้องไม่ได้จะอยู่ได้ คนจำนวนมากที่ตกงานและเสมือนว่างงานย้ายถิ่นไปภูมิลำเนากลายเป็นคนว่างงานถาวรแต่ยังยึดติดอัตราว่างงานที่ต่ำแต่ไม่มีใครเชื่อ.....ทางออกอยู่ที่ไหนไม่มีคำตอบครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat