posttoday

บิ๊กต่อ เฉลิมชัย สั่งเร่งเครื่อง พลิกโอกาสถั่วเหลืองไทย

09 พฤษภาคม 2565

บิ๊กต่อ เฉลิมชัย สั่งเร่งเครื่อง พลิกโอกาสถั่วเหลืองไทย พืชเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงอาหารของประเทศ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และ เกษตรกร ส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่ให้ทั้งโปรตีนและน้ำมัน และยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จากสถานการณ์การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในปี 2565 หรือปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 24 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูก 85,226 ไร่ แบ่งเป็น ถั่วเหลือง รุ่น 1 จำนวน 26,208 ไร่ และถั่วเหลือง รุ่น 2 จำนวน 59,018 ไร่ ผลผลิตรวม 23,007 ตัน (ถั่วเหลือง รุ่น 1 จำนวน 7,836 ตัน และถั่วเหลือง รุ่น 2 จำนวน 15,171 ตัน) โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 88,010 ไร่ (ลดลงร้อยละ 3.40) และผลผลิตลดลงจากที่มีจำนวน 23,482 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.02) เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพืชอื่น เกษตรกรบางส่วนจึงหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองและผลผลิตถั่วเหลืองลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตที่สูง ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้องใช้แรงงานสูงโดยเฉพาะในการเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2560 – 2564) ความต้องการใช้ถั่วเหลืองในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.92 ต่อปี โดยปี 2565 คาดว่า ความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองมีปริมาณ 4.02 ล้านตัน มีสัดส่วนการใช้ผลผลิตภายในประเทศ ร้อยละ 0.58 และยังต้องนำเข้าร้อยละ 99.42 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด ส่งผลแนวโน้มการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 ต่อปี ทั้งนี้ ปี 2565 คาดว่าการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมีปริมาณ 4.00 ล้านตัน เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ด้านราคาถั่วเหลืองที่เกษตรกรขายได้ (เกรดคละ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.96 ต่อปี โดยในปี 2564 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 17.16 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 16.71 บาท ในปี 2563 ร้อยละ 2.69 และปัจจุบัน ราคา ณ ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2565 กิโลกรัมละ 20.20 บาท ส่วนราคาถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือเกาะสีชัง มีแนวโน้มสูงขึ้น ร้อยละ 3.62 ต่อปี โดยในปี 2564 ราคาถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือเกาะสีชัง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 18.15 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 12.51 บาท ในปี 2563 (สูงขึ้นร้อยละ 45.08) ซึ่งราคาสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาในตลาดโลก

“จากสถานการณ์ถั่วเหลืองข้างต้น จะเห็นได้ว่าผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งแนวโน้มราคายังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจกระทบต่อการนำเข้าพืชอาหารสัตว์ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ โดยมอบหมายให้ สศก. ร่วมกับทุกภาคส่วนส่งเสริมการผลิตในประเทศ พัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของถั่วเหลือง โดย สศก. จะมีการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งสหกรณ์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลือง และผู้ประกอบการที่ใช้เมล็ดถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ ในการหาแนวทางที่จะเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศร่วมกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว