posttoday

‘เอไอเอส’ควัก 1.8 พันลบ.ค่าประมูลคลื่น 700 งวด 2 ลุยลงทุนเพิ่มยกระดับสัญญาณโครงข่าย 5G

18 เมษายน 2565

‘เอไอเอส’จ่ายประมูลคลื่นความถี่ 700 งวดสอง อีก 1.8 พันล้าน พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรองรับ 5G เพื่อคนไทย ใช้งบกว่า 3-3.5 หมื่นล้าน

นายศรัณย์  ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,835,478,000.00 บาท จากวงเงินประมูลรวม 17,154 ล้านบาท โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

“AIS เป็นรายแรกที่ประกาศเปิดตัวการให้บริการ 5G หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตเพียงไม่กี่วันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563  โดยถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ จนถึงปัจจุบัน AIS 5G ให้บริการแล้วด้วยความครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 90% ในเขตกรุงเทพฯ ครอบคลุม 100% ในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz ที่ AIS มีความถี่มากที่สุดถึง 30 MHz และได้นำมาใช้ในการขยายบริการ 5G ไปในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการติดตั้งสถานีฐานในปริมาณมากที่สุดด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ที่ตอบโจทย์การใช้ดาต้าในยุคที่ต้องเรียนหนังสือ หรือ ทำงานอยู่ที่บ้านได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์”

นอกจากนี้ในภาพรวมของการบริหารจัดการคลื่นความถี่นั้น ยังเดินหน้านำนวัตกรรมมายกระดับโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีล่าสุดระดับโลกอย่างต่อเนื่อง  เช่น mmWave ด้วยความเร็วถึงระดับ 4 กิกะบิทต่อวินาที และ 5G CA  ครั้งแรกของโลก รวมถึง Voice over 5G New Radio (VoNR) ให้โทรชัดใสได้บนเครือข่าย 5G SA รายแรกในไทย   รวมไปถึงประสบการณ์ใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งความครอบคลุม, ความเร็ว, การเชื่อมต่อกับ IoT Device ตลอดจนอัตราความหน่วง เพื่อรักษาคุณภาพที่เป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ยังได้เตรียมงบประมาณกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง รองรับโอกาสและการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการมองภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการแข่งขันและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ AIS มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ