posttoday

บำรุงราษฎร์ เวิร์คชอปผ่าตัดกระดูกสันหลังเทคนิคส่องกล้องเอ็นโดสโคป ส่งต่อเทคนิคระดับนานาชาติ

06 เมษายน 2565

สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ร่วมกับ รพ. เซนต์แอนนา ประเทศเยอรมนี เวิร์คชอปศัลยแพทย์นานาชาติ ผ่าตัดกระดูกสันหลังเทคนิคส่องกล้องเอ็นโดสโคป โชว์ล้ำเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็ก ลดเวลาพักฟื้น

รศ.นพ.ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ร่วมกับ รพ. เซนต์แอนนา ประเทศเยอรมนี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคปครั้งที่ 52 (52nd International Training Course for Full-endoscopic Operations of the Lumbar, Thoracic and Cervical Spine March 18th-19th, 2022) ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยในปี 2565 นี้ มีศัลยแพทย์ชาวไทยและนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งในช่องทางออนไลน์และออนไซต์ เป็นจำนวนมากถึง 230 ราย จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรป บำรุงราษฎร์ ส่งต่อประสบการณ์ทางการแพทย์สู่ระดับสากล เพื่อรองรับการแพทย์สมัยใหม่ Minimal Invasive Surgery (MIS) ช่วยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ลดอาการเจ็บแผล ลดอาการข้างเคียง และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย

ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวว่า สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ได้รับการยกระดับด้านวิชาการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล หรือ Academic Hospital ซึ่งครอบคลุม 3 ด้านหลัก คือ การให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเฉพาะทาง การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ และการฝึกอบรมถ่ายทอดวิชาความรู้ต่อยอดแก่ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปของภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ปี 2554 ที่พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ ระหว่างกัน ตลอดระยะเวลาการจัดงานในครั้งนี้

นพ. วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าความพิเศษของการจัดเวิร์คชอปการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป ครั้งที่ 52 ได้รับความสนใจจากศัลยแพทย์จากนานาชาติรวมไม่ต่ำกว่า 230 ราย ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ในกลุ่มประเทศภูมิภาคยุโรปและเอเชีย รวมถึงศัลยแพทย์ทั้งในและต่างประเทศหลายรายที่เข้าร่วมการฝึกอบรมฯเป็นครั้งแรก สะท้อนถึงแนวโน้มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ที่มีความต้องการสูงขึ้นในปัจจุบัน และจากความสำเร็จในการจัดกิจกรรมฯ ดังกล่าวตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากแพทย์ชาวไทยและในต่างประเทศ

“สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมแบ่งปันเทคนิคและองค์ความรู้สำคัญนี้ให้กับแพทย์ไทย ด้วยในปัจจุบันโรงเรียนแพทย์เกือบทุกแห่งในประเทศมีการเรียนการสอนเทคนิคการผ่าตัดฯ ดังกล่าวแล้ว รวมถึงโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งได้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้เป็นทางเลือกในการรักษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในอนาคต” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

ศัลยแพทย์ไทยและต่างชาติ รับอนาคตทางเลือกใหม่ผ่าตัดฯ คนไข้

ตัวแทนแพทย์จากโรงพยาบาลภาครัฐแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมเวิร์คชอป กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในปีนี้ ด้วยเล็งเห็นถึงองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ด้านเทคนิคทางการแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มทักษะให้กับศัลยแพทย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ให้สามารถนำกลับไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้จริงร่วมกับคนไข้ที่ต้องการทางเลือกในการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดกระดูกสันหลังเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป”

พร้อมกล่าวเสริมว่า กิจกรรมเวิร์คชอปในครั้งนี้ยังเป็นการเชื่อมต่อองค์ความรู้ทางการแพทย์ระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐในต่างจังหวัดและโรงพยาบาลเอกชนส่วนกลางในกรุงเทพฯ ในการถ่ายทอดเทคนิคทางการแพทย์ระดับสากล ด้วยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้บริการ ร่วมกับคนไข้ ที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี”

Dr. Salf Ur Rehman ศัลยแพทย์โรงพยาบาล King Salman Armed Forces ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่เดินทางเข้าร่วมฝึกอบรมแบบออนไซต์ ด้วยมองเห็นโอกาสจากการนำเทคนิคการผ่าตัดฯ ดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วยในประเทศปากีสถานซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่หลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป ด้วยมีข้อบ่งชี้หลายด้านที่มีประโยชน์อย่างมาก รวมถึงย่นระยะเวลาในการรักษาให้กับผู้ป่วย การฝึกอบรมครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป เพื่อนำไปปรับใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น”

พร้อมเสริมว่า จากการเข้าร่วมการฝึกอบรมนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าสามารถต่อยอดนำความรู้จากการเวิร์คชอปไปยังชั้นเรียนทางการแพทย์ในประเทศได้ ผ่านการประชุมทางการแพทย์ร่วมกันในวาระต่างๆ พร้อมนำเคสคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังทีมแพทย์อื่น ๆ ได้อีก นอกจากนี้ ความรู้และเทคนิคที่ได้รับในการฝึกอบรมครั้งนี้ ยังสามารถนำไปปรับใช้เทคนิคร่วมกับการผ่าตัดประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย”