posttoday

ธุรกิจค้าปลีกทำใจ ฟื้นตัวช้ากว่าที่คิด จากผู้บริโภคหมดเงินซื้อ

03 เมษายน 2565

ธปท. เผยผลสำรวจธุรกิจค้าปลีกทรุด เนื่องจากคนซื้อหมดเงิน และต้นทุนการผลิตสินค้ากลับแพงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปม.) เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมีนาคม 2565 โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของแต่ละผลสำรวจได้ดังนี้

(1) ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) - ในเดือนมีนาคม 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนจากภาคที่มิใช่การผลิต โดยเฉพาะภาคบริการ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของระดับการจ้างงาน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการผลิตปรับลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกระทบต้นทุนการผลิต ประกอบกับปัญหาการขนส่งที่ยังไม่คลี่คลาย

- ธุรกิจมีมุมมองต่อการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ล่าช้ากว่าการสำรวจรอบก่อน โดยกำลังซื้อที่อ่อนแอ และการแพร่ระบาดในประเทศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัว

- ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงไตรมาสก่อน แต่การสต็อกวัตถุดิบคงคลังเพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ จากสถานการณ์การปิดโรงงานของคู่ค้าที่ทยอยคลี่คลายจากไตรมาสก่อน และราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

(2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

- ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จากกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ มาตรการกระตุ้นการบริโภคทยอยหมดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดสายพันธุ์ Omicron เพิ่มขึ้น

- ประเด็นพิเศษ พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่หมดลง และประเมินว่าสถานการณ์จะปรับแย่ลงอีก จากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าพื้นฐานหลายหมวดปรับแพงขึ้น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีโปรโมชั่นและเลือกสินค้าที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์เล็กลง