posttoday

ปลดล็อกที่ดินสปก.1.4 หมื่นไร่สร้างศูนย์ธุรกิจ EEC บูมลงทุน 1.34 ล้านล้าน

22 มีนาคม 2565

ครม.ไฟเขียวสกพอ.ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. 14,619 ไร่ เดินหน้าพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC ที่บางละมุง คาดเงินลงทุนสะพัดกว่า 1.34 ล้านล้านบาท สร้างงานใหม่ 2 แสนราย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ  

ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) โดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจให้ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ของ ส.ป.ก..เพื่อดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

นอกจากนี้ครม.ได้รับทราบมติ กพอ. ที่ได้อนุมัติร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานคระกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ.... เพื่อให้ สกพอ. และส.ป.ก. ดำเนินจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป  

รวมถึงรับทราบมติ กพอ. ที่เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  จำนวน 15,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567  จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท จะแยกเป็น ค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาท  โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 1,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท  

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580  เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศไทย  โดยโครงการมีที่ตั้ง ที่อ.บางละมุง จ.ชลยุรี พื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่  ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม.  มีระยะการพัฒนา 10 ปี  ระหว่างปี 2565-2575 

ทางสกพอ.ประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างงาน 2 แสนตำแหน่ง  ใช้เงินลงทุนประมาณ1.34 ล้านล้านบาท  โดยเป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐ 2.8% หรือ 37,674 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าที่ดิน ปรับพื้นที่เมืองโครงสร้างพื้นฐานในเมือง นอกเมือง ส่วนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) 9.7% หรือประมาณ 131,119 ล้านบาท เป็นค่าสาธารณูปโภคในระบบขนส่งธารณะ ระบบดิจิทัล และเอกชนลงทุน 87.5% หรือประมาณ 1,180,808 ล้านบาท สำหรับพื้นที่พาณิชย์ 

อย่างไรก็ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการ จะแบ่งโซนตามธุรกิจเป้าหมายเป็น 5 โซน ประกอบด้วย  1.ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และGreen Bond 2.สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ  เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซีและสถานที่ราชการที่สำคัญ

3.การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 4.การศึกษา วิจัย และพัฒนา  เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน  และ 5.ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitizationและ5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา   เป็นต้น